การเตรียมความพร้อมเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ บทความสุดท้ายนี้ สอวช. จะนำเสนอในประเด็นเชื่อมโยงจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่ได้จากการพูดคุยในรายการ Future Talk by NXPO ตอน “COP26 กับแนวทางของไทย ผนึก รัฐ – เอกชน จับมือลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” มาแลกเปลี่ยนให้ทุกท่านได้ทราบถึงแนวทางที่เราต้องเตรียมความพร้อม รวมถึงสิ่งที่หน่วยงานในประเทศกำลังดำเนินการอยู่
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้แลกเปลี่ยนในรายการช่วงหนึ่งว่า งานที่ สผ. ในฐานะหน่วยงานกลางของประเทศ ภายใต้กรอบอนุสัญญา COP26 ต้องทำต่อร่วมกับทุกกระทรวง ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคม และประชาชน คือการอัปเดตเป้าหมาย Nationally Determined Contributions: NDCs หรือการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ผ่านการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน อีกทั้งยังต้องปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวว่าด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
นโยบายและแผนของประเทศต้องถูกปรับปรุงให้สอดรับกับเป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้ ทั้งในกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ อาทิ การเพิ่มพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy: RE) การเพิ่มยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงการทำ บีซีจี โมเดล ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ฉายภาพให้เห็นว่าเป้าหมายของประเทศที่ได้จากการประชุม COP26 จะเข้าไปเชื่อมโยงในแผนภาพรวม และรวมถึงแผนรายสาขา หรือแผนของกระทรวงต่างๆ ในอนาคตต่อไปด้วย
ระหว่างการทำแผนในปี 2565 ยังต้องอาศัยข้อมูลจากภาคเอกชนเข้ามาเสริมว่า การลดก๊าซเรือนกระจกในการเปลี่ยนผ่านแต่ละสาขาธุรกิจนั้นต้องใช้เทคโนโลยีแบบใดเข้ามาช่วยในช่วงเวลาใด รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ภาคเอกชนต้องการ อาทิ การลดหย่อนในรูปแบบภาษี, การสนับสนุนเงินลงทุนในรูปแบบ Co-finance จะต้องอยู่ในลักษณะใด ซึ่งข้อมูลจากภาคเอกชนจะมีส่วนสำคัญในการที่จะขับเคลื่อนนำเทคโนโลยีเข้ามาในแต่ละช่วงเวลาให้เป็นไปได้จริงด้วย ซึ่งทาง สผ. ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อดูกลไกการเงินในประเทศ ในขณะเดียวกันก็ต้องทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศและประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้นด้วย
สำหรับประเทศไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายให้สำเร็จได้คือภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้บริโภคจะต้องร่วมมือร่วมใจไปในทิศทางเดียวกัน ปัญหาอุปสรรคสำคัญคือช่วงเปลี่ยนผ่านหรือ Transition Period ในช่วง 10 ปีแรก จะทำอย่างไรให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่มากจนเกินไป ไม่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากสำหรับประเทศไทยที่ต้องตื่นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลังช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการประชุม COP26 สอวช. เอง ก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมในฐานะ Negotiator ในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับ “Technology Development and Transfer” และทำหน้าที่เป็น National Designated Entity (NDE) ซึ่งเป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของ The Climate Technology Centre and Network (CTCN) ภายใต้อนุสัญญา UNFCCC โดยมีหน้าที่หลัก คือ ตรวจสอบคำขอรับความช่วยเหลือว่าตรงตามความต้องการของประเทศหรือไม่ รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่ง สอวช. มีความพยายามที่จะเชื่อมโยงประเทศไทยกับนานาชาติ โดยเฉพาะเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเน้นบทบาทของ อววน. โดยเฉพาะนักวิจัยในการดูดซับองค์ความรู้ ตลอดจนบทบาทด้านการหาแหล่งทุนจากในและต่างประเทศ เพื่อมาขยายขนาดโครงการด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นเพื่อให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กล่าวไว้ในเวที COP26 รวมถึงการสนับสนุนบุคคลากร และอำนวยความสะดวก เพื่อเร่งให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้เองในประเทศ
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านบทความเรื่อง ทำความรู้จักการประชุม COP26 และเป้าหมายระดับโลกที่เชื่อมโยงกับประเทศไทย ย้อนหลังได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/9648/
อ่านบทความเรื่อง การตั้งเป้าหมายของไทยเพื่อลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามแนวทางจากการประชุม COP26 ย้อนหลังได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/9651/
ที่มาข้อมูล : รายการ Future Talk by NXPO ตอน “COP26 กับแนวทางของไทย ผนึก รัฐ - เอกชน จับมือลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/acQwOh6lnZ/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.