เมื่อวันที่ 27 พ.ค.68 ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยถึงแนวนโยบายของกระทรวง อว. ในการกลับมาทำงานใช้ทุนของนักเรียนทุนกระทรวง อว. ว่า ในอดีตการให้ทุนการศึกษาของกระทรวง อว. จะเน้นไปตามความต้องการของหน่วยงาน เช่น มหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานวิจัยใดที่ขาดแคลนคนทำงานในสาขาไหนก็จะเสนอขอสนับสนุนทุนมายังกระทรวง อว. ซึ่งกระทรวง อว. ก็จะจัดสรรทุนให้ไป และเมื่อผู้ได้รับทุนเรียนจบกลับมาก็จะต้องไปทำงานในหน่วยงานเพื่อใช้ทุน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภารกิจด้านการจัดเรียนการสอนและทำงานวิจัยเป็นหลัก แต่ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป กระทรวง อว.จะแบ่งการจัดสรรทุนเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกซึ่งเป็นส่วนใหญ่ยังเป็นการให้ทุนตามความต้องการของหน่วยงาน ส่วนที่ 2 กระทรวง อว. จะแบ่งทุนออกมาส่วนหนึ่ง เพื่อให้ทุนตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง อุตสาหกรรม AI และอุตสาหกรรม EV เป็นต้น ซึ่งการจัดสรรทุนแบบตามนโยบายของประเทศนี้ เราไม่ได้คาดหวังให้ผู้รับทุนกลับมาสอนหนังสือหรือทำวิจัยเพียงอย่างเดียว แต่คาดหวังว่าจะให้กลุ่มคนเหล่านี้กลับมาช่วยสนับสนุนในภาคอุตสาหกรรมหรือสร้างอุตสาหกรรมใหม่จากเทคโนโลยีหรืองานวิจัยของผู้รับทุนเอง
ปลัดกระทรวง อว. กล่าวต่อว่า เพราะฉะนั้น นักเรียนทุนในกลุ่มนี้จะต้องได้รับการพัฒนาและส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการทางเทคโนโลยีได้ ซึ่งเมื่อเรียนจบกลับมากระทรวง อว. จะมีกฎระเบียบที่ยืดหยุ่น เพื่อให้ทำงานใช้ทุนกับต้นสังกัดควบคู่ไปกับการทำงานกับภาคอุตสาหกรรมหรือสนับสนุนผู้ประกอบการไทย เช่น สตาร์ทอัพ รวมถึงการสร้างธุรกิจหรือเป็นผู้ประกอบการทางเทคโนโลยีขั้นสูงของตัวเองได้ และด้วยนโยบายนี้กระทรวง อว.จึงได้เริ่มดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัย Imperial ของอังกฤษ ในการส่งนักเรียนทุนไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอกสาขาการออกแบบวงจรรวม (IC Design) ด้านเทคโนโลยีสุขภาพในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยนักเรียนทุนกลุ่มนี้นอกจากจะได้ทำงานวิจัยในห้องปฏิบัติการชั้นนำของโลกที่มหาวิทยาลัย Imperial แล้ว ทางมหาวิทยาลัย Imperial ยังจะช่วยในการบ่มเพาะเทคโนโลยีและธุรกิจในผลงานวิจัยนั้นด้วย เพื่อให้การนำผลงานวิจัยนั้นออกไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ได้จริง และเมื่อเรียนจบกลับมาทางกระทรวง อว. ก็จะสนับสนุนให้ผู้รับทุนนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี ผลงานวิจัยของตนเองไปต่อยอดธุรกิจ โดยใช้กลไกต่างๆ ที่กระทรวง อว. มีอยู่ และสำหรับนักเรียนทุนกระทรวง อว. ที่ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็สามารถใช้กฎระเบียบที่ยืดหยุ่นนี้ได้เช่นเดียวกัน
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวอีกว่า นอกจากความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Imperial แล้ว กระทรวง อว. ก็กำลังขยายรูปแบบการให้ทุนในลักษณะนี้ไปยังมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ ของโลก โดยเน้นหนักไปที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์สมัยใหม่และ AI
“ขณะนี้ กระทรวง อว.อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางในการปรับวิธีการทำงานใช้ทุน ที่นอกจากจะให้ปฎิบัติภารกิจด้านการสอนหรือทำงานวิจัยในหน่วยงานต้นสังกัดอย่างเดียวแบบเดิมแล้ว จะให้มีการนับเวลาใช้ทุนในรูปแบบอื่น เช่น การทำงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน หรือการนำเทคโนโลยีในรูปแบบผลงานวิจัยไปต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศที่มีผลกระทบสูง เป็นต้น“ ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว
เผยแพร่ข่าว : นางสาวเยาวลักษณ์ ทับช้างโท
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.