ดร.เอนก กล่าวว่า “ในปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาควรปรับวิธีการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีความสุข เพลิดเพลินในหลักสูตร ซึ่ง อว. เล็งเห็นว่าการอุดมศึกษาของไทยในอนาคตต้องมีการปฏิบัติควบคู่ไปกับภาคทฤษฎีให้มากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เพราะพื้นฐานของเด็กไทยจะไม่ชอบในทางทฤษฎีมากเกินไป แต่การปฏิบัติจะมาช่วยเติมเต็มความอยากรู้อยากลองของเด็กๆ ผู้สอนก็ได้ฝึกทักษะการสอน และได้ฝึกประยุกต์ใช้และพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ไปด้วย การเรียนการสอนแบบนี้จะทำให้ผู้สอนและผู้เรียนมีความสุข อว. พร้อมเข้ามาช่วยสนับสนุน และขอแสดงความชื่นชมสถาบันเทคโนโลยีสวนจิตรดาซึ่งถือเป็นต้นแบบในการ “เรียนคู่งานและงานคู่เรียน” อีกทั้งยังเป็นสถาบันที่มีเทคโนโลยีมากมาย เน้นการเรียนการสอนในภาคปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัดในระดับ ปวช./ปวส. ซึ่งทักษะเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ต่อยอดในชีวิตต่อไปเป็นอาชีพ โดย อว. ของเรามีวิศวะระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญ และมีนักวิทยาศาสตร์ที่เก่ง ทุกภาคส่วนจะเข้ามาร่วมมือกันพัฒนาสิ่งสำคัญที่จะทำให้กลไกทางการปฏิบัติสมบูรณ์คือส่วนของการผลิตหรือ “ช่าง” ทุกฝ่ายต้องร่วมกันพัฒนาทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไปอย่างจริงจังในอนาคตอันใกล้”
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงฯ กล่าวในตอนหนึ่งว่า “สิ่งที่ สถาบันอุดมการณ์ศึกษามีอย่างมหาศาลและเป็นขุมทรัพย์ทางการศึกษาคือทางทฤษฎี การวิจัยและเทคโนโลยีต่างๆ แต่ที่ขาดแคลนคือผู้ที่จะมาปฏิบัติในสายวิชาชีพ การพัฒนาวิชาชีพในทางที่เกี่ยวข้องกับวิศวะกรรม หรือ “ช่าง” จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องผลักดันและส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรม อว. ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการในการขับเคลื่อนสถาบันการศึกษามาเน้นในด้านของกลุ่มเทคโนโลยีให้มากขึ้น ต้องปรับเส้นทางในการเติบโตในสายวิชาชีพของอาจารย์ผู้สอนในของกลุ่มวิศวกร เพิ่มศาสตราจารย์ชำนาญด้านการปฏิบัติ และเชื่อมโยงภาครัฐและเอกชน ให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ช่วยกันพัฒนาหลักสูตร ให้มีทั้งภาคทฤษฎี และเพิ่มการเรียนการสอนด้านปฏิบัติ โดยใช้ผู้ที่ทำงานจริง มีทักษะด้านปฏิบัติโดยตรงกับสายงานนั้นๆ หรือเป็นนักธุรกิจ เข้ามาช่วยในสถาบันอุดมศึกษา และมีตำแหน่งรองรับอย่างชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติเข้ามาสู่กระบวนการอุดมศึกษามากขึ้น”
จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และคณะ ได้ร่วมชมนิทรรศการ CDTI 2020 Virtual Exhibition “เรียบง่าย พอเพียง ร้อยเรียงนวัตกรรม นำสู่ธุรกิจ” ซึ่งเป็นนิทรรศการนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์ วิจัย และนวัตกรรม ของครู อาจารย์ นักเรียนและนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ตลอดปีการศึกษา 2562 เพื่อสนับสนุนให้ครู อาจารย์ นักเรียนและนักศึกษาคิดค้นนวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม สามารถนำไปต่อยอดทางภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม มีผลงานจัดแสดงจัดเป็นหมวดๆ ได้แก่ หมวดอาหาร อาทิ ข้าวแต๋นปักษ์ใต้ ซุปข้นจากเมล็ดขนุนฯ หมวดสิ่งแวดล้อม อาทิ อุปกรณ์ประมาณค่าพารามิเตอร์สำหรับระบบบำบัดน้ำเสียแบบตะกอนเร่งด้วยระบบฟัซซี่ลอจิก (Fuzzy Logic) อุปกรณ์บำรุงรักษาปั๊มน้ำสำหรับบ่อพักน้ำเสีย ชุดอุปกรณ์ ตรวจวัดความร้อนและเสียงของเครื่องจักร สถานีตรวจวัดสภาพอากาศ และตู้อบฆ่าเชื้อไวรัสระบบไฮบริดควบคุมผ่าน RFID สำหรับชุมชน หมวดเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก อาทิ เครื่องตรวจประเมินประสิทธิภาพมอเตอร์เหนี่ยวนำแบบสามเฟสโดยไม่รบกวนการทำงานแบบพกพา เครื่องสุขาแมวอัตโนมัติ และชุดอุปกรณ์รดน้ำและให้ปุ๋ยกึ่งอัตโนมัติด้วยระบบ IoT หมวดพลังงาน อาทิ อุปกรณ์ตรวจจับแก๊สรั่วและแจ้งเตือนทาง smartphone และอุปกรณ์ควบคุมและตรวจวัดประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้จริงในสถานประกอบการหลายแห่งและยังได้รับรางวัลในเวทีต่างๆ นอกจากนี้ยังมีผลงานในหมวดศิลปะและวัฒนธรรม อาทิ โหม่งลายรดน้ำ ซอด้วง และไม้ระนาด ที่จัดสร้างโดยนักเรียนหลักสูตรการสร้างเครื่องดนตรีไทย และหมวดบริการวิชาการ อาทิ หลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล (Caregiver) การจำลองห้องส่งรายการ “จิตรลดา ปรุงสารพัด” สอนทำอาหารออนไลน์ฟรี ที่มีผู้ติดตามชมหลักแสนราย
ถ่ายภาพ : อินทิรา บัวลอย
เขียวข่าว : วัชรพล วงษ์ไทย
เผยแพร่ข่าว โดย ปราณี ชื่นอารมณ์ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2039 5609 Facebook : @opsMHESI/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.