วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมงาน เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ "การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย" พ.ศ. 2565 (Thailand Sustainable Development Forum 2022) สร้างกลไกในการนำข้อมูลไปสู่การกำหนดวาระนโยบาย หรือประเด็นสำคัญ เพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย ผ่านการสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ ในการจัดทำข้อมูลสถานการณ์ สถานะและช่องว่างในการดำเนินงานเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายและการทำงานร่วมกันของนักวิชาการและภาคส่วนต่าง ๆ อย่างบูรณาการข้ามศาสตร์ ไปจนก่อให้เกิดความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยภายในปี พ.ศ. 2573 พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงระดับฐานราก (Transformation)” ณ ห้องอินฟินิตี้ บอลรูม ชั้น G โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยที่กำลังดำเนินการอยู่ทางภาควิชาการ วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย และอื่น ๆ เห็นว่าพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ การดีขึ้นนี้ไม่ใช่เพียงแค่ชั่วคราว แต่เป็นการดีขึ้นแบบที่ทุกคนพัฒนาขึ้นหมดและมีความยั่งยืน ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงระดับฐานราก เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในภาพรวมของโลก การดำเนินงานด้าน SDGs ไม่เป็นไปตามแผน เพื่อจะบรรลุ 169 เป้าประสงค์ บางมิติยังสวนทางกับเป้าหมาย แต่ละภูมิภาคมีประเด็นที่เสื่อมถอยและก้าวหน้าแตกต่างกัน ปัญหาด้านการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ประเมินและพัฒนาตัวชี้วัด การดำเนินการของประเทศแทบทั้งหมดยังเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย และยังคงเป็นแบบ Business-As-Usual ถ้าไม่มีการดำเนินการแบบ Transformation คือ มีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างและระบบของการขับเคลื่อน SDGs ให้บูรณาการมาก ขึ้นกว่านี้ โลกจะไม่สามารถบรรลุ SDGs ได้ทันปี 2030 ดังนั้น หลักสำคัญคือต้องปรับจากการมอง ให้คิดว่า SDG เป็นเรื่องของทุกคน และต้องหาเครื่องมือ กลไกที่จะเป็นตัวช่วยเสริมการขับเคลื่อน
สำหรับ Entry points ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หลัก ๆ มี 6 เรื่อง คือ (1) สุขภาวะและทรัพยากรมนุษย์ (2) เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม (3) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและ อุตสาหกรรมที่ยั่งยืน (4) การพัฒนาของพื้นที่เมืองและพื้นที่กึ่งเมือง (5) ระบบอาหารที่ยั่งยืน และโภชนาการเพื่อสุขภาพ (6) ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของโลก สำหรับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “จุดคานงัดที่สำคัญ” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับฐานราก 1. ทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องทำงานร่วมกันในการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ที่มีอยู่ 2. รัฐบาล เครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัย มหาวิทยาลัย ฐานข้อมูลและห้องสมุดจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มระดับการเข้าถึงความรู้ ข้อมูลแบบแยกย่อย รวมถึงการพัฒนาและคุณภาพของระบบอุดมศึกษา 3. ต้องมีการยกระดับการสนับสนุนงานวิจัยที่อยู่บนฐานของภารกิจการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสนับสนุนทั้งงานวิจัยในสาขา Sustainability Science (ซึ่งเป็นสาขาของการทำงานแบบข้ามศาสตร์ที่เรียกว่า ‘Transdisciplinary’ ซึ่งเน้นไปที่การผลิตความรู้ร่วมกัน) และในศาสตร์อื่นๆ 4. ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับ “แพลตฟอร์ม” สำหรับการปฏิสัมพันธ์ระหว่าง วิทยาศาสตร์ นโยบาย และสังคม เพื่อให้ภาควิชาการและภาคสังคมส่งผ่านความรู้และความคิดเห็นไปถึงภาคนโยบายได้
นอกจากนั้น กระทรวง อว. ได้ดูแลครอบคลุมไปยังมหาวิทยาลัย และได้เล็งเห็นความสำคัญมหาวิทยาลัยในระดับพื้นที่ ว่าเป็นกำลังสำคัญเพื่อขับเคลื่อน SDGs มีการสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพสถาบันอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อน SDG โดยมีจุดมุ่งหมายให้สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งได้ใช้ ความสามารถและศักยภาพอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใหม่ และมหาวิทยาลัยเป็นฐาน ในการพัฒนา การขับเคลื่อนของ อว. ที่สำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ภายใต้แนวคิดการเปลี่ยนแปลงระดับฐานราก คือ การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเชื่อมโยงองค์ความรู้จากหน่วยงานในสังกัด อว. ได้แก่ สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ว. และ ท.) ในการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์วิจัยของประเทศ บริหารจัดการทรัพยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย เพื่อการศึกษาวิจัย ระดับชาติ รวมทั้งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันและพัฒนาองค์ความรู้สู่สังคมผ่านเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา สร้างระบบฐานข้อมูลรวบรวมงานวิจัยทั่วประเทศ ผ่านระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และขับเคลื่อนระบบนิเวศน์การวิจัย ผ่าน “อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย” และ “อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค”
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.