วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 - รองศาสตราจารย์ ดร. พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับเชิญจาก QS Quacquarelli Symonds และ University of Indonesia (Universitas Indonesia) ประเทศอินโดนีเซีย ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Future Challenges and New Opportunities in Thai Higher Education” ในการประชุม QS Higher Education Summit: Asia Pacific 2022 Hybrid Conference and Exhibition ณ โรงแรม InterContinental Pondok Indah กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ กล่าวในการประชุมว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อไป ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มีมหาวิทยาลัยและสาขาที่เปิดใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนขึ้นมากทำให้เกิดที่ว่างขึ้นในบางสาขาวิชา หากแนวโน้มของอัตราการเกิดใหม่ยังลดลงเช่นนี้ อีก 20 ปีข้างหน้ามีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีนักศึกษาเข้าสู่ระบบอุดมศึกษาเพียง 50% ของที่จำนวนที่รับได้ทั้งหมด นอกจากนี้คุณลักษณะของนักศึกษาที่จะเข้าสู่สถาบันการศึกษาก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและการพัฒนาของเทคโนโลยี การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยก็ต้องออกแบบให้เหมาะสมกับนักศึกษาในแต่ละยุคสมัย ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม (Demand Side) ก็อยากได้นักศึกษาที่พร้อมทำงาน (Job-ready) โดยจะเน้นที่สมรรถนะ (Competency) และทัศนคติที่ถูกต้อง บริษัทในต่างประเทศหลายแห่งประกาศรับคนที่ไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรีในงานที่ได้เงินเดือนสูง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่มาในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเช่นแพลทฟอร์มด้านการศึกษาต่าง ๆ เป็นต้น มหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศที่เผชิญกับความท้าทายเหล่านี้กำลังทบทวนการดำเนินงานในทุกมิติ เพื่อเปลี่ยนโฉม เพิ่มคุณค่า (Values) ของตัวเองเพื่อความอยู่รอดและเจริญรุ่งเรือง และพร้อมที่จะรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในยุคปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหลายแห่งในต่างประเทศที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันก็ทยอยปิดตัวเองตามที่ปรากฏในข่าว
รศ.ดร.พาสิทธิ์ ได้ชี้ให้เห็นถึงการดำเนินการของกระทรวงฯตามนโยบายของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มุ่งพัฒนาการอุดมศึกษาด้วยการสนับสนุนและปลดล็อคให้มหาวิทยาลัยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนา วทน. (Science Research Innovation Fund) การแต่งตั้งคณะกรรมการ Higher Education Sandbox เพื่อเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยทำนวัตกรรมอุดมศึกษา การแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยตามพันธกิจเป้าหมายออกเป็น 5 กลุ่มยุทธศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสามารถสร้างความเป็นเลิศตามพันธกิจที่แตกต่างกันได้ จัดตั้งธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) เพื่อให้คนไทยสามารถเก็บหน่วยกิตเพื่อนำไปเทียบเคียงเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้ เพิ่มวิธีการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการขึ้นอีก 5 ด้าน เพื่อเปิดช่องทางในการพัฒนาคุณภาพวิชาการและนวัตกรรมของประเทศให้มีความหลากหลายสอดคล้องและครอบคลุมผลงานที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ ชุมชน หรือสังคมได้ โดยเน้นการนำไปใช้จริงที่สามารถประเมินผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นได้
เผยแพร่โดย : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.