14 พฤศจิกายน 2563 / เปิดอย่างเป็นทางการกับงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2563” รูปแบบใหม่ Virtual Science Fair โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 23 พฤศจิกายนนี้ ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โชว์ผลงานและศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้งในและต่างประเทศจาก 93 หน่วยงานชั้นนำ 11 ประเทศร่วมจัด ย้ำจัดแสดงงานตามรูปแบบวิถีใหม่ (New Normal) วางมาตรการคัดกรองผู้เข้าชมงานอย่างเคร่งครัดตามข้อกำหนดของรัฐบาล พร้อมชวนเปิดประสบการณ์ใหม่ Virtual Science Fair จำลองบรรยากาศงานจริงสู่โลกออนไลน์ เพิ่มทางเลือกการเรียนรู้วิทย์ฯ ในยุคโควิด
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2563 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติกล่าวรายงาน
ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาตร์ กล่าวว่า “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) เปิดห้องแห่งการเรียนรู้วิถีชีวิตใหม่ “มหัศจรรย์การแพทย์ก้าวไกล” เสริมสร้างความรู้ด้านชีววิทยาศาสตร์ให้น้องๆ เยาวชนได้เรียนรู้แบบง่ายๆ สนุกสนานกับกิจกรรมเกมลับสมองเสริมสร้างโลกการเรียนรู้แห่งอนาคต พบกับ 6 ฐานกิจกรรมค้นหา RC คือ ฐานที่ 1 เทคโนโลยีก้าวไกลห่างกายไม่ห่างใจ ฐานที่ 2 เกราะกันเชื้อ ฐานที่ 3 นวัตกรรมกู้โลก ฐานที่ 4 ขดลวดมหัศจรรย์ ฐานที่ 5 VR ค้นหาอวัยวะของมนุษย์ และฐานที่ 6 อาวุธพิฆาตไวรัส”
“งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2563 สำหรับไฮไลท์ของบูธทีเซลส์ปีนี้ น้องๆ เยาวชน จะได้เรียนรู้ร่างกายมนุษย์ผ่านเทคโนโลยี VR เกมเสมือนจริง ฝึกทักษะและความคิดสร้างสรรค์ค้นหาอวัยวะของมนุษย์ และเรียนรู้วิถีชีวิตใหม่กับเทคโนโลยีการแพทย์ก้าวไกล ให้น้องๆ เยาวชน ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองปฏิบัติจริงกับห้องแห่งการเรียนรู้เครื่องมือแพทย์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ อาทิ เครื่องฆ่าเชื้อโคโรน่าไวรัสด้วยรังสี UV (Hybrid-UVC Sterilizer) ร่วมออกแบบและพัฒนาต้นแบบโดยความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ บริษัท บุณย ไลฟ์ ไซอันซ์ จำกัด บริษัท แอเชอร์โฟโทนิกส์ จำกัด ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยได้รับการสนับสนุนจาก ทีเซลส์ (TCELS) / ขดลวดค้ำยันชนิดดึงกลับจากวัสดุฉลาด ได้รับความอนุเคราะห์จาก สมาร์ทแล็บ ภาควิชาวิศวกรรมครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี / หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ น้องด็อกโตไซท์ ได้รับความอนุเคราะห์จาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ นวัตกรรมเครื่องมือแพทย์วัสดุฝังใน ได้รับความอนุเคราะห์จาก บริษัท ออโธพีเซีย จำกัด พร้อมทั้งบอร์ดนิทรรศการที่ให้ความรู้ในเรื่องของเครื่องมือแพทย์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ พบกับพี่ๆ และน้องเมลบี ได้ที่บูธทีเซลส์ (TCELS) ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี” ดร.ศิรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขอเชิญชวนน้องๆ เยาวชน และ ประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2563 ก้าวสู่ปีที่ 15 กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีของประเทศ ภายใต้แนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 23 พฤศจิกายน 2563 เวลา 9.00 - 19.00 น. ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นอกจากนี้ ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2563 ยังมีกิจกรรมอีกหลากหลายไว้คอยต้อนรับน้องๆ เยาวชน สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กและเยาวชนที่เติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไปในอนาคต โดยนำกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ที่เน้นให้เด็กและเยาวชนผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองปฏิบัติจริง ซึ่งมีห้องกิจกรรมแห่งการเรียนรู้หลากหลายให้เด็กและเยาวชนได้ร่วมสนุก ขอเชิญชวนคุณพ่อคุณแม่ คุณครู-อาจารย์ พาน้องๆ เยาวชน มาเรียนรู้โลกของวิทยาศาสตร์ ร่วมสนุกและรับของขวัญมากมาย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.