กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดตัวชุดกิจกรรมสื่อวิทยาศาสตร์เต็มรูปแบบ ในโครงการ NSM Plearn Science ส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน โรงเรียน และทุกคนในครอบครัว ที่คิดค้นขึ้นโดย อพวช. เพื่อเสริมสร้างทักษะโดยใช้กระบวนการทางด้านวิทยาศาสตร์แบบบูรณาการองค์ความรู้ STEM Education โดยแบ่งออกเป็น 4 ชุดกิจกรรม ได้แก่ ชุดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ (Lab Box) , ชุดการเรียนรู้เพื่อเสริมทักษะด้านไอที (Smart Kits) , ชุดฝึกทักษะนักประดิษฐ์ (Maker Kits) และชุดของเล่นวิทยาศาสตร์ (Science Toy)
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “อพวช. เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับเยาวชนทั่วประเทศมายาวนานกว่า 25 ปี โดยให้บริการในรูปแบบนิทรรศการและกิจกรรมแบบ Interactive ผ่านพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า รวมถึงการจัดนิทรรศการเคลื่อนที่สู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศยาวนานกว่า 15 ปี กับกิจกรรมคาราวานวิทยาศาสตร์ จากประสบการณ์ที่ อพวช. สั่งสมมาอย่างยาวนาน อพวช. จึงได้คิดค้นและพัฒนากิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้น ในชื่อโครงการ “NSM Plearn Science” โดยมุ่งเน้นการเล่น เรียนรู้ และสนุกสร้างสรรค์ ไปกับชุดกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ ที่พร้อมค้นหาคำตอบด้วยตนเองกับเรื่องราวรอบตัวผ่านชุดกิจกรรมสื่อวิทยาศาสตร์ ซึ่งเหมาะสำหรับเยาวชน โรงเรียน และทุกคนในครอบครัว ที่สามารถนำไปเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองอย่างสนุกสนาน ซึ่งในอนาคตเรายังมุ่งมั่นพัฒนากิจกรรมที่จะสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอันจะนำไปสู่สังคมไทยที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต”
ดร.นวลวรรณ ชะอุ่ม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “บริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดำเนินการนำเข้า ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ภายใต้มาตรฐานการผลิตสื่อการเรียนรู้สำหรับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมานานกว่า 45 ปี พร้อมจัดจำหน่ายในท้องตลาดเพื่อความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย จึงเกิดความร่วมมือกับ อพวช. ในการส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการในชุดกิจกรรมสื่อวิทยาศาสตร์ภายใต้ชื่อ NSM Plearn Science เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการเผยแพร่สื่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพสู่สังคมไทย โดย อพวช. เป็นผู้ออกแบบคิดค้นชุดกิจกรรมการทดลองนี้ และทางบริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดำเนินการผลิตและจัดจำหน่าย ซึ่งถือเป็นแนวทางการเรียนรู้วิทยาศาสตร์อีกรูปแบบหนึ่งที่สำคัญ สามารถช่วยส่งเสริมให้เยาวชน และบุคคลที่สนใจ สามารถนำความรู้ไปพัฒนาต่อยอด และปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ต่อไป”
ปัจจุบัน อพวช. ได้คิดค้นชุดกิจกรรม NSM Plearn Science ออกเป็น 4 ชุดกิจกรรม ได้แก่
- หรรษากระจกเงา สนุกไปกับกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์การสะท้อนแสงของวัตถุรอบตัว มาค้นพบความพิเศษของกระจกเงาที่จะทำให้เข้าใจเกี่ยวกับแสงและภาพจากกระจกเงามากขึ้น
- เคมีฟองฟู่ กิจกรรมที่เต็มไปด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเคมี พร้อมตื่นเต้นไปกับระเบิดพลังผงฟู การเป่าลูกโป่งแบบนักวิทยาศาสตร์ และชวนมาค้นพบกันว่าแก๊สที่เกิดขึ้นคือแก๊สอะไร
- ศึกษาดูใจ เรียนรู้และทำความเข้าใจไปกับระบบหมุนเวียนเลือด และหัวใจของมนุษย์ มาร่วมค้นพบ ทดลองและหาคำตอบด้วยตนเอง
- ครบเครื่องเรื่องวงจร ชวนทดลองและประดิษฐ์วงจรไฟฟ้าแสนสนุก พร้อมท้าทาย เสริมสร้างความรู้และพัฒนาทักษะการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการต่อวงจรไฟฟ้าอย่างง่าย ๆ
- IOTree สนุกไปกับชุดสมาร์ทฟาร์มเพื่อควบคุมระบบแสงสว่างและรดน้ำต้นไม้ด้วยอุปกรณ์ IOTree
- Smart Connect ชุดเสริมเพื่อใช้ในการควบคุมการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้า
- Discoverer เสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ เรื่อง แรงลอยตัวของวัตถุในน้ำ,แรงเสียดทาน และการเคลื่อนที่แนวดิ่ง
- Explorer เสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ เรื่อง แรงดัน การรับน้ำหนัก และโครงสร้างต่าง ๆ
- Creator เสริมสร้างการเรียนรู้ เรื่อง การเคลื่อนที่วิถีโค้งอย่างง่าย,การเกิดเสียง และโครงสร้าง
- Innovator เสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ เรื่องแรงต้านอากาศ,เครื่องผ่อนแรง และแรงอัดอากาศ
สำหรับผู้สนใจสามารถสั่งซื้อชุดกิจกรรม NSM Plearn Science ได้ที่ www.nsmscienceshop.com สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02 577 9999
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.