สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดนิทรรศการพลังงานไฟฟ้า พลังชีวิต (Clean Energy for Life) “ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2563 หนึ่งในโครงการนำร่องของ “โครงการคิด (KIDS) เพื่อพลังงานแห่งอนาคต” (Future Kids Future Energy) ซึ่งได้รับการสนับสนุงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงาน กกพ. ตามมาตรา 97(5) ปี 2563 โดยวังสร้างความตระหนักด้านพลังงานสะอาด เสริมความเข้าใจในการกำกับดูแลกิจการพลังงานไฟฟ้า และการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมกํากับดูแลกิจการพลังงานทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และส่งเสริมการแข่งขันที่เหมาะสมเป็นธรรม รวมทั้งสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคพลังงานของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ความตระหนัก และมีส่วนร่วมกับพลังงานของประเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์หลักของสำนักงาน กกพ.
ในปีนี้สำนักงาน กกพ. ได้จัดโครงการ Clean Energy for Life “ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” ซึ่งเป็นโครงการสื่อสารที่ต้องการสื่อถึงภาพความสำคัญและประโยชน์ของพลังงานสะอาดที่ไม่ใช่เพียงต่อผู้ใช้โดยตรง แต่ยังครอบคลุมถึงประชาชนโดยรวม ภายใต้การสื่อสาร 6 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 2. พลังงานไฟฟ้าจากขยะ 3. พลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล 4. พลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 5. การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่หรือสื่อสังคมออนไลน์ และ 6. การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ผ่าน 25 ภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เป็น 1 ใน 25 ภาคีเครือข่ายที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัด “โครงการคิด (KIDS) เพื่อพลังงานแห่งอนาคต” (Future Kids Future Energy) เพื่อสร้างความตระหนักรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกันด้านพลังงานสะอาดให้กับเยาวชน ครู ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการ การแสดงสาธิต การทดลอง และค่ายเยาวชน โดยนิทรรศการพลังงานไฟฟ้า พลังชีวิต (Clean Energy for Life) “ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” ซึ่งจัดขึ้น ณ มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2563 ถือเป็นกิจกรรมแรก
สำนักงาน กกพ. คาดหวังว่านิทรรศการชุดนี้จะสามารถสื่อสารความสำคัญในการพัฒนาพลังงานสะอาด นำไปสู่การสร้างแรงบันดาลให้ประชาชนได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของพลังงานมากขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในสังคมและในอนาคต ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. และอพวช. จะยังดำเนินการร่วมมือกันในการพัฒนานิทรรศการและกิจกรรมด้านพลังงานที่จะเกิดขึ้นต่อไป
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า “ดิฉันหวังว่าความร่วมมือในการจัดนิทรรศการพลังงานไฟฟ้า พลังชีวิต จะทำให้ผู้เข้าชมได้เข้าใจว่าการใช้พลังงานสะอาดจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น จากสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น โดยการใช้และผลิตพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อผลกระทบ และทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ในราคาที่เหมาะสมเพื่อสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ทุกคนในสังคมเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากทิศทางการพัฒนาที่มีพลังงานสะอาดเป็นตัวขับเคลื่อนสังคม ทำให้เกิดสมดุลในทุกมิติจากครัวเรือน สู่ชุมชน สู่สังคมโดยรวม และสู่ระดับโลก ภายใต้เป้าหมาย Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า อพวช. มีภารกิจหลัก คือการถ่ายทอดความรู้และสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม ให้กับเยาวชนและประชาชนไทยผ่านการจัดแสดงนิทรรศการ กิจกรรมสื่อสารวิทยาศาสตร์ ที่มุ่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ และจิตวิทยาศาสตร์แก่สังคมไทย
สำหรับนิทรรศการ พลังงานไฟฟ้า พลังชีวิต (Clean Energy for Life) “ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” ซึ่งจัดขึ้น ณ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2563 อพวช. ได้รับการสนับสนุงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงาน กกพ. ตามมาตรา 97(5) ปี 2563 ซึ่งเป็นกิจกรรมนำร่อง ภายใต้ “โครงการคิด (KIDS) เพื่อพลังงานแห่งอนาคต” (Future Kids Future Energy) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการตระหนักและเรียนรู้ด้านพลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและสร้างความเข้าใจในการกำกับดูแลกิจการพลังงานไฟฟ้า และการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนของประเทศให้กับเยาวชน ครู ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป
ภายในนิทรรศการนี้ ประกอบไปด้วยสื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่สนุกสนานมากมาย อาทิ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสถิต แวนเดอร์กราฟ, เกมบ้านพลังไดนาโม เพื่อเรียนรู้ที่มาของการผลิตกระแสไฟฟ้า, เมืองพลังงานทดแทน เมื่อวันที่โลกไม่มีไฟฟ้า พลังงานทดแทนใดบ้างที่สามารถนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้, พร้อมย้อนเวลาไปพบกับอัจฉริยะที่โลกลืม “นิโคลา เทสลา” (Nikola Tesla) นักประดิษฐ์ นักฟิสิกส์ และวิศวกรไฟฟ้า ผู้พัฒนาระบบไฟฟ้ากระแสสลับอันเป็นระบบพลังงานพื้นฐานที่ใช้งานทั่วโลกในปัจจุบัน แต่กลับถูกมองว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องทำให้บั้นปลายชีวิตต้องโดดเดี่ยวไร้คนเหลียวแล และโทมัส อัลวา เอดิสัน พ่อมดนักประดิษฐ์ ผู้จดลิขสิทธิ์สิ่งประดิษฐ์มากกว่า 1,200 ชนิดจนกลายเป็นสุดยอดนักประดิษฐ์ของโลก หนึ่งในผลงานประดิษฐ์ที่โลกประจักษ์ คือ การเปลี่ยนโลกด้วยผลงานประดิษฐ์หลอดไฟ ทำให้ทุกวันนี้โลกมีแสงสว่างตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ผู้เข้าเยี่ยมชมจะได้เรียนรู้นวัตกรรมพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน ทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power) พลังงานชีวมวลและชีวภาพ (Bio Energy) พลังงานลม (Wind Energy) และพลังงานขยะ (Waste to Energy) หรือจากแหล่งเชื้อเพลิงชนิดใดก็ตามที่ผลิตและใช้อยู่ในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้ประชาชนวางใจ และมั่นใจได้ว่าพลังงานไฟฟ้าที่เกิดขึ้นเป็นพลังงานสะอาด
มาร่วมกันค้นหาคำตอบ “จริงหรือที่พลังงานไฟฟ้าจะหมดไป” และ ”ชีวิตจะเป็นอย่างไร เมื่อไม่มีพลังงานไฟฟ้า” เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ พร้อมทั้งร่วมกันสร้างเมืองอนุรักษ์พลังงานไปกับเกม Start! Smart City และกิจกรรมการประดิษฐ์สนุก ๆ ใน Work Shop เราคือทีมเดียวกัน
“เด็ก ๆ และผู้เข้าชมงานจะได้รับความทั้งความสนุก และความรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อปลูกฝังพื้นฐานการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและพลังงานสะอาด และทำให้เขาได้ตระหนักเห็นความสำคัญของพลังงานไฟฟ้าและพลังงานสะอาด” ผู้ช่วยศาสตราจารย์รวิน กล่าวทิ้งท้าย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.