วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) จัดสัมมนาสื่อสารองค์กรในรูปแบบออนไลน์ เรื่อง “ยกเครื่อง วศ. สู่ทศวรรษที่ 14” เพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้กับบุคลากร วศ. กว่า 500 คน ในการเตรียมความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนองค์กรจากระบบราชการเดิมไปเป็น “องค์การมหาชน” ซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2565
โดย นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้บรรยายพิเศษ เพื่อถ่ายทอดนโยบายและแนวทางการปรับตัวตลอดจนรูปแบบการทำงานของ วศ. ในมิติใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น และเพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้บริหารระดับนโยบายของกระทรวง อว. และประชาชนที่จะเป็นผู้รับบริการของ วศ. ดังนั้น นับจากนี้ไปวัฒนธรรมการทำงานภายในองค์กรอาจจะต้องค่อยๆ มีการปรับเปลี่ยนหรือทดลองปรับเปลี่ยนไปเป็น Step โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับรูปแบบการทำงานให้เป็น Agile Team คือแนวคิดการทำงานขององค์กรยุคใหม่เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้ทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดขั้นตอนและงานเอกสารแต่ให้มุ่งเน้นที่การสื่อสารและมีทีม นั่นหมายความว่าบุคลากร วศ. ที่ต่างสายงานสามารถมานั่งทำงานด้วยกันได้โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้พึงพอใจมากขึ้น เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ อธิบดีปฐมฯ กล่าวว่าการปรับเปลี่ยนองค์กรของ วศ. ไปสู่องค์การมหาชน ทำให้เราถูกคาดหวังเนื่องจากเรามีคำว่า “บริการ” ดังนั้น บทบาทของ วศ. ต้องก้าวสู่ความเป็นสากล นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ยังมีนโยบายให้ผู้บริหาร วศ. เป็น Chief Science Officer หมายถึงผู้นำหรือผู้บริหารสูงสุดด้านวิทยาศาสตร์ ทำให้เป็นความท้าทายที่จะต้องนำพาองค์กรให้ก้าวไปสู่ระดับความเชื่อมั่นด้วยประสิทธิภาพและความรวดเร็วในด้านบริการให้เป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนี้ วศ. มีเวลาอีก 1 ปี ในการปรับโครงสร้างภายในหน่วยงาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในการสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อสร้างความพร้อมที่จะปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้มีคุณภาพต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.