(21 มกราคม 2564) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ออก ประกาศ “หลักเกณฑ์การรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรและรับรองการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์” (สะเต็ม) ช่วยผู้ประกอบการควบคู่กับการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและสถานประกอบการผ่านมาตรการการคลังภายใต้มาตรการ Thailand Plus Package ได้แก่ มาตรการสนับสนุนการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงด้านสะเต็มซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่ได้รับรองจาก สอวช. ผู้ประกอบการสามารถนําค่าใช้จ่ายในการจ้างงานระหว่าง ปี 2562-2563 ไปหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 150 และ มาตรการการพัฒนาบุคลากรผ่านการฝึกอบรมแรงงานให้มีทักษะสูงในหลักสูตรด้านสะเต็มที่ได้รับการรับรองจาก สอวช. โดยยกเว้นภาษีเงินได้ร้อยละ 250
สอวช. จัดทำหลักเกณฑ์การรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรและการรับรองการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงด้านสะเต็ม เพื่อสนับสนุนมาตรการทางการคลังและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาคเอกชนรองรับการลงทุนจากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างประเทศมาประเทศไทย (Thailand Plus Package) และเป็นการรองรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 392 และ 393 ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการจ้างงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงและส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรที่ได้รับรองจาก สอวช. โดยมีมาตรการสนับสนุนทางภาษี ดังนี้
1. มาตรการส่งเสริมด้านการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านสะเต็ม มาตรการส่งเสริมการจ้างแรงงานลูกจ้างจะเป็นการดำเนินงานในรูปแบบ สอวช. ให้การรับรองการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงที่ปฏิบัติงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมาตรการการคลังดังกล่าวจะเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 50 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงานให้แก่ลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ตามจำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อเดือน ที่เกิดขึ้นจากสัญญาจ้างแรงงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งเมื่อรวมกับการลดหย่อนค่าใช้จ่ายที่สถานประกอบการได้รับอยู่แล้วจะสามารถลดหย่อนรวมเป็นร้อยละ 150 เกณฑ์การพิจารณาการรับรองการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านสะเต็ม สถานประกอบการที่สามารถยื่นขอรับรองการจ้างแรงงานลูกจ้างได้ คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยพิจารณาจาก 1) ตำแหน่งงานสอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้ทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ตามประกาศ สอวช. 2) เป็นการจ้างแรงงานลูกจ้างมีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ และ 3) เป็นสัญญาจ้างแรงงานที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยสถานประกอบการที่ต้องการรับรองการจ้างแรงงานลูกจ้างสามารถยื่นเอกสารขอรับรองการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูง ผ่านระบบสารสนเทศได้ทาง https://tp.nxpo.or.th ตั้งแต่ 22 ม.ค. 2564 – 15 มี.ค. 2564 จากนั้นคณะกรรมการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรและการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ดำเนินการพิจารณารับรองการจ้างแรงงานลูกจ้าง ซึ่งสถานประกอบการสามารถติดตามผลการรับรองและดาวน์โหลดเอกสารรับรองได้ผ่านระบบสารสนเทศเดียวกับที่ยื่นเอกสาร และนำเอกสารรับรองดังกล่าวยื่นต่อกรมสรรพากรเพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษีต่อไป
2. มาตรการสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงานในหลักสูตรสะเต็ม มาตรการสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงานสำหรับสถานประกอบการจะเป็นการดำเนินงานในรูปแบบดังนี้ 1) การยื่นขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้านฝึกอบรม สถานประกอบการที่ส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองโดยประกาศ สอวช. ทั้งในรูปแบบหลักสูตรฝึกอบรมจากหน่วยงานฝึกอบรมโดยเฉพาะ หรือหลักสูตรที่สถานประกอบการจัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างภายในองค์กร สถานประกอบการสามารถยื่นขอสิทธิประโยชน์ได้โดยตรงจากกรมสรรพากร โดยสามารถติดตามผลหลักสูตรที่ได้รับรองจาก สอวช. ผ่านทางเวปไซต์ สอวช.2) การยื่นขอรับรองหลักสูตรฝึกอบรมจาก สอวช. หน่วยฝึกอบรมที่จัดการอบรมให้กับองค์กรภายนอกหรือสถานประกอบการที่ดำเนินการอบรมหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรภายในองค์กรตนเอง ให้ดำเนินการยื่นขอรับรองหลักสูตรอบรมกับ สอวช. เพื่อนำผลการรับรองไปใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้านฝึกอบรมโดยมาตรการทางภาษีเพื่อพัฒนาบุคลากรด้วยการฝึกอบรมจะเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 150 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมหรือในการจัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งเมื่อรวมกับการลดหย่อนค่าใช้จ่ายที่สถานประกอบการได้รับอยู่แล้วจะสามารถดหย่อนรวมเป็นร้อยละ 250 สำหรับเกณฑ์การพิจารณาการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากร หน่วยฝึกอบรม/สถานประกอบการที่สามารถยื่นขอรับรองหลักสูตรฝึกอบรมได้ ประกอบด้วย สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย สถาบันหรือหน่วยงานของรัฐที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดฝึกอบรม บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน่วยฝึกอบรมภายใน รวมถึงบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดฝึกอบรมหรือพัฒนาบุคลากร โดยมีเกณฑ์การพิจารณา คือ 1) ต้องสอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายและความต้องการทักษะบุคลากรตามประกาศ สอวช. หรือ 2) เป็นความต้องการทักษะบุคลากรที่คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วสอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ มีเนื้อหาสาระหลักสูตรที่สอดคล้องกับผลลัพธ์การเรียนรู้ มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการฝึกอบรมอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการประเมินผลความสามารถหรือผลการเรียนรู้ โดยหน่วยฝึกอบรม/สถานประกอบการที่ต้องการขอรับรองหลักสูตรสามารถยื่นเอกสารขอรับรองหลักสูตรฝึกอบรมผ่านระบบสารสนเทศได้ทาง https://tp.nxpo.or.th ตั้งแต่ 22 ม.ค. 2564 – 15 มี.ค. 2564 จากนั้นคณะกรรมการฯ ดำเนินการพิจารณารับรองหลักสูตรฝึกอบรม โดยหน่วยฝึกอบรม/สถานประกอบการที่ขอรับรองหลักสูตรสามารถติดตามผลและดาวน์โหลดเอกสารรับรองได้ผ่านระบบสารสนเทศเดียวกับที่ยื่นเอกสาร สำหรับสถานประกอบการที่ฝึกอบรมผ่านหน่วยฝึกอบรมนั้น สามารถติดตามผลการรับรองหลักสูตรของหน่วยฝึกอบรมผ่านทางระบบสารสนเทศเละเวปไซต์ สอวช.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
คุณอัชฌา ป่านแก้ว 02-109-5432 ต่อ 509, e-mail: atcha@nxpo.or.th
ดร.ดวงรัตน์ นิ่มอนุสสรณ์กุล 02-109-5432 ต่อ 564, e-mail: duangrat@nxpo.or.th
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.