สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA โดยศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอวกาศด้านกลศาสตร์วงโคจรของประเทศไทย หรือ Astrolab ใช้ระบบการจัดการจราจรอวกาศ หรือ ZIRCON ที่พัฒนาโดยนักวิจัยและวิศวกรจาก Astrolab คำนวณความเป็นไปได้ที่วัตถุอวกาศ (Fengyun 1C DEB) ซึ่งมี NORAD (North American Aerospace Defense) Catalog Numbe: 31199 จะมีโอกาสชนกับดาวเทียมไทยโชต (NORAD: 33396) ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 19.03 น. (ตามเวลาประเทศไทย) โดยมีระยะใกล้ที่สุด 101 เมตร และจากการวิเคราะห์ทิศทางและระยะของวงโคจร รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ พบว่ามีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดการชนกันของดาวเทียมไทยโชตและวัตถุอวกาศ นั้น GISTDA ได้ทำการปรับวงโคจรของไทยโชต โดยลดระดับความสูงของวงโคจรให้ต่ำลง 60 เมตร ซึ่งภายหลังการปรับวงโคจรแล้ว พบว่าดาวเทียมสามารถทำงานได้ตามปกติ และเมื่อตรวจสอบข้อมูลความเสี่ยงต่างๆ ด้วยระบบ ZIRCON อีกครั้งพบว่าดาวเทียมอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัยและไม่เสี่ยงต่อการชนกับวัตถุอวกาศ และปฏิบัติงานได้เป็นปกติเช่นเดิม
ระบบ ZIRCON เป็นระบบการจัดการจราจรอวกาศ ที่ทำหน้าที่ในการแจ้งเตือนการชนระหว่างดาวเทียมไทยโชตกับวัตถุอวกาศ (ดาวเทียมที่ปฏิบัติภารกิจ หรือ ขยะอวกาศ) ระบบนี้ได้พัฒนาตั้งแต่ ปี 2562 ซึ่งเดิม GISTDA ใช้บริการแจ้งเตือนจากหน่วยงานต่างประเทศซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง และต้องรอจากการแจ้งเตือน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการตัดสินใจและวางแผนการหลบเลี่ยงได้ล่าช้า GISTDA จึงได้พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีอวกาศนี้ขี้นมา และเริ่มใช้กับภารกิจดาวเทียมไทยโชตเต็มรูปแบบต้นเดือนธันวาคม 2563 โดยภารกิจถัดจากนี้คือการให้บริการการจัดการจราจรอวกาศให้กับดาวเทียมอื่นๆที่เป็นสัญชาติไทยและในระดับนานาชาติต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.