บทความก่อนหน้านี้ สอวช. ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประชุม COP26 และเป้าหมายในระดับโลกกันไปแล้ว บทความนี้จะเข้ามาสู่เป้าหมายระดับประเทศของประเทศไทยกันบ้างว่ามีอะไรที่เราต้องขับเคลื่อนให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้
ประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเข้าร่วม COP26 ได้ประกาศเป้าหมายสำคัญคือประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065
การไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน จะดูการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศไทยที่มาจากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงาน การขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร เมื่อมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาแล้วจะต้องมีการดูดกลับ ปัจจุบันส่วนงานที่จะเข้ามาช่วยในการดูดกลับคือภาคป่าไม้ ในการปลูกต้นไม้ ป่าชายเลน เพิ่มพื้นที่สีเขียว ขณะนี้เรามีความสามารถในการดูดกลับอยู่ที่ 90 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในอนาคตเราต้องการเพิ่มปริมาณขึ้นให้ได้ 120 ล้านตันฯ เป็นอย่างน้อย ซึ่งหากเพิ่มการดูดกลับได้เป็น 120 ล้านตันฯ ก็จะสามารถปล่อยก๊าซได้ 120 ล้านตันฯ ในปริมาณที่เท่ากัน เพื่อให้สามารถหักลบกันเป็นศูนย์ และเกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ภายในปี 2050
ในส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ การดำเนินการจะต้องมีความเข้มข้นขึ้น เนื่องจากไม่ได้สนใจเพียงแค่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่รวมถึงก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide): CO2, มีเทน (Methane): CH4, ไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide): N2O, กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs), กลุ่มก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs), ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (Sulfur hexafluoride) : SF6, และ ไนโตรเจน ไตรฟลูออไรด์ (Nitrogen trifluoride) :NF3 Co2
ส่วนต่อมาคือการยกระดับ Nationally Determined Contributions: NDCs หรือการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด จากร้อยละ 20-25 ให้อาจถึงร้อยละ 40 โดยใช้แนวทางการสนับสนุนทางการเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้เข้ามาช่วย ส่วนเรื่องการลดอุณหภูมิ ประเทศไทยอยู่ในทิศทางที่จะลดลงมาอยู่ระหว่าง 1.6-1.7 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายเพราะตั้งเป้าไว้สูงกว่าเป้าหมายโลกที่จะไปถึง
จะเห็นได้ว่าเป้าหมายของประเทศไทยมีความท้าทายและต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเข้ามาช่วย บทความในตอนหน้า เราจะพาไปดูกันว่าการจะไปสู่เป้าหมายได้นั้นประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อม และมีแนวทางในการดำเนินงานต่อไปอย่างไร ติดตามบทความต่อไปได้ทาง Facebook Fanpage สอวช.
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านบทความเรื่อง ทำความรู้จักการประชุม COP26 และเป้าหมายระดับโลกที่เชื่อมโยงกับประเทศไทย ย้อนหลังได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/9648/
ที่มาข้อมูล : รายการ Future Talk by NXPO ตอน “COP26 กับแนวทางของไทย ผนึก รัฐ – เอกชน จับมือลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/acQwOh6lnZ/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.