สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้รับแจ้งจากหน่วยงานกำกับดูแลทางนิวเคลียร์ของประเทศยูเครน ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการแจ้งเหตุทางนิวเคลียร์โดยเร็ว ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency, IAEA) และจากการแถลงข่าวของ IAEA เกี่ยวกับสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์นิวเคลียร์ในประเทศยูเครน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 เวลา 11.22 น. ตามเวลาท้องถิ่น (16.22 น. ตามเวลาประเทศไทย) ได้เกิดกระแสไฟฟ้าดับภายในพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl) เนื่องจากโครงข่ายสายไฟฟ้าจากภายนอกได้รับความเสียหาย หลังจากกองกำลังทางทหารได้เข้ายึดครองพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
2. IAEA ได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลทางนิวเคลียร์ของยูเครนแล้ว สรุปว่า การขาดการเชื่อมต่อกระแสไฟฟ้าจากภายนอกจะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบความปลอดภัยของสถานจัดการกากกัมมันตรังสี ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่จัดเก็บเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วซึ่งยังมีปริมาณน้ำหล่อเย็นที่เพียงพอที่จะระบายความร้อนของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องจ่ายกระแสไฟฟ้า ในขณะเดียวกัน ได้มีการจัดเตรียมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบเครื่องยนต์ดีเซลและแหล่งไฟฟ้าสำรองมาใช้งานในกรณีฉุกเฉิน
3. อย่างไรก็ตามการขาดกระแสไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางรังสีในการดำเนินงานที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล และสร้างความกังวลเพิ่มขึ้นให้แก่ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีการสับเปลี่ยนผู้ปฏิบัติงานจากกองกำลังทางทหารซึ่งควบคุมพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลอยู่ในขณะนี้
4. นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา IAEA ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลระยะไกลของระบบการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (Nuclear Safeguards) เพื่อตรวจสอบวัสดุนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริเซีย (Zaporizhzhya) ซึ่งถูกกองกำลังทางทหารยึดครองอยู่ โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งสองแห่งมีวัสดุนิวเคลียร์จำนวนมากที่อยู่ในรูปของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่มีการใช้งาน เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว และวัสดุนิวเคลียร์ประเภทอื่น
โดยระบบการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียรนี้ เป็นเครื่องมือที่ IAEA ได้ติดตั้งที่สถานประกอบการทางนิวเคลียร์ทั่วโลก เพื่อตรวจสอบและติดตามวัสดุนิวเคลียร์หรือกิจกรรมทางนิวเคลียร์ในสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ได้ตลอดเวลา เป็นการยืนยันการปฏิบัติตามพันธกรณีของสนธิสัญญาระหว่างประเทศในการใช้วัสดุนิวเคลียร์และเทคโนโลยีทางนิวเคลียร์เพื่อวัตถุประสงค์ในทางสันติเท่านั้น
5. ในขณะที่เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีการใช้งานอยู่ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 4 แห่ง ในประเทศยูเครน มีจำนวนทั้งหมด 15 เครื่อง มีการเดินเครื่องตามปกติจำนวน 8 เครื่อง โดยระดับรังสีในพื้นที่ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ จากการที่แหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้าภายนอกได้รับความเสียหายบางส่วน ทำให้ต้องมีการสำรองแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าโดยเครื่องดีเซลเจนเนอเรเตอร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่เดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ต้องการให้สายไฟจากแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้าภายนอกได้รับการซ่อมแซมทันที
6. IAEA มีความกังวลต่อสถานการณ์ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นในประเทศยูเครน อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย (Safety) ความมั่นคงปลอดภัย (Security) และการพิทักษ์ความปลอดภัย (Safeguards) รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ดำเนินการอยู่และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลที่กำลังดำเนินการรื้อถอน ทั้งนี้ IAEA ได้ขอให้ทั้งสองฝ่ายยึดถือเสาหลัก 7 ประการในการดูแลด้านความปลอดภัยและความมั่นคงปลอดภัยสำหรับสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ที่ IAEA กำหนด
7. ปส. ได้ติดตามสถานการณ์ด้านนิวเคลียร์และรังสีในประเทศยูเครน รวมถึงได้ดำเนินการเฝ้าระวังภัยทางรังสีจากระดับรังสีและกัมมันตภาพรังสีในอากาศของประเทศไทยและทวีปยุโรปอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันยังไม่มีผลกระทบด้านนิวเคลียร์และรังสีต่อประเทศไทยแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ปส. จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และจะมีการประกาศให้ทราบ หากมีสถานการณ์สำคัญเกิดขึ้นกับสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ในประเทศยูเครน นอกจากนี้ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลจาก IAEA เพิ่มเติมได้ที่ www.iaea.org
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.