(21 เมษายน 2566) ณ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ลงนามความบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยทั้งสองหน่วยงานสนับสนุนความเชี่ยวชาญ ของบุคลากรและการสนับสนุนทรัพยกรงานวิจัยร่วมกัน โดยมีพลเอกชูชาติ บัวขาว ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) และศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ร่วมลงนาม พลตรีพีรพงศ์ โพธิ์เหมือน รองผู้อำนวยการ สปท. และดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมเป็นพยาน ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวเพื่อสร้างองค์ความรู้ การใช้เทคโนโลยี และกิจกรรมนวัตกรรมเทคโนโลยีสองทางทุกรูปแบบ อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายในการผลักดันให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็น S-Curve ตัวที่ 11 โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รับผิดชอบในการส่งเสริมและวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสองทาง (Dual-Use) ที่สร้างขีดความสามารถให้มีการใช้งานได้ทั้งในภารกิจด้านความมั่นคงและสำหรับภาคพลเรือนทั่วไปเชิงพาณิชย์
พลเอกชูชาติ บัวขาว ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) กล่าวว่า การร่วมลงนามในครั้งนี้ เป็นการยกระดับความร่วมมือที่มีอยู่ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ซึ่งเกิดจากทั้งสองฝ่าย ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี และการร่วมกันจัดหาและสนับสนุนทรัพยากร เช่น งบประมาณ บุคลากร เทคโนโลยี เครื่องมือ และสถานที่ ร่วมกันเสริมสร้างและแลกเปลี่ยนบุคลากร ความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการ ร่วมกันจัดฝึกอบรม ประชุม สัมมนา เพื่อพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถแก่บุคลากรของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนหน่วยงานในเครือข่ายความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันขยายผลการนำผลงานวิจัยพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติ รวมทั้งขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มุ่งเน้นในการสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ของประเทศ และเชื่อมโยงกับพันธมิตรในทุกภาคส่วนในการขยายผลการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยความร่วมมือจากศูนย์วิจัยภายใต้สวทช. ซึ่งมีศูนย์แห่งชาติที่มีความเชี่ยวชาญและมีความรู้ความสามารถในทางวิทยาศาสตร์ อาทิ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ศูนย์โลหะและวัสดุแห่งชาติ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ
ทั้งนี้พันธกิจหลักหนึ่ง คือกลุ่มศูนย์ฯ Focus Center สวทช. โดยได้มอบหมายนโยบายให้ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ มีพันธกิจในการสร้างเครือข่ายด้านความมั่นคงของประเทศ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา NSD ได้มีความร่วมมือสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านวิชาการ ร่วมกับ สทป. ในการเป็นที่ปรึกษาและร่วมกิจกรรมต่างๆ ด้านความมั่นคงอย่างต่อเนื่องตลอดมา เพื่อให้เกิดการขยายผลของการนำผลงานวิจัยไปประยุกต์สู่การใช้งานด้านความมั่นคงและเชิงพาณิชย์ให้มีประสิทธิภาพ
“ในช่วงที่ผ่านมาศูนย์ NSD ได้มีความร่วมมือสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านวิชาการ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ อาทิ การเชิญเป็นคณะกรรมการจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยี “การจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านเทคโนโลยีสองทางและความมั่นคง (Dual use and Security Technology) เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยที่มุ่งสู่ยุค 4.0 ในอนาคต” ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและแผนการปฏิบัติงานอย่างสอดคล้องกับทิศทางของเทคโนโลยีด้านความมั่นคง ให้เกิดการขยายผลของการนำผลงานวิจัยไปประยุกต์สู่อุตสาหกรรมให้กับประเทศ โดย สวทช. มีบทบาทหลักของการสนับสนุนทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยีและบุคลากรวิจัย เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุด” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.