21 เมษายน 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ ร่วมกับกรมแผนที่ทหาร จัดงานสัมมนา “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยศูนย์ข้อมูลค่าอ้างอิงพิกัดแบบต่อเนื่องแห่งชาติ หรือ National CORS Data Center : NCDC” โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเข้าร่วมเปิดงาน ณ โรงแรม อัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สำหรับวัตถุประสงค์ของงานในวันนี้เพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากศูนย์ข้อมูลค่าอ้างอิงพิกัดแบบต่อเนื่องแห่งชาติ หรือ NCDC ที่บูรณาการข้อมูลจากสถานีอ้างอิงค่าพิกัดแบบต่อเนื่อง หรือ Continuously Operating Reference Stations : CORS ภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐกว่า 236 สถานี ประกอบด้วย กรมแผนที่ทหาร กรมที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ GISTDA
ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และรักษาความมั่นคงให้กับประเทศ เนื่องจากเป็นข้อมูลค่าพิกัดอ้างอิงที่มีความถูกต้องสูงระดับ 3-5 เซนติเมตรที่ให้บริการโดยกรมแผนที่ทหารที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานต่างๆ เช่น งานสำรวจเพื่อจัดทำแผนที่ งานรังวัดและจัดทำแปลงที่ดิน งานด้านวิศวกรรมและก่อสร้างสาธารณูปโภคงานด้านภัยพิบัติ งานด้านบริหารจัดการน้ำ งานด้านคมนาคมขนส่งและยานยนต์ไร้คนขับ งานด้านเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) และงานด้านความมั่นคง เป็นต้น
ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ โฆษก GISTDA และผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า ทุกวันนี้เราทุกคนอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากดาวเทียม โดรน หรืออุปกรณ์ IoT ต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เชื่อมโยง ผู้คน สิ่งของ เวลา และสถานที่ไว้ด้วยกัน ทำให้เราสามารถดูข้อมูลปัจจุบัน อดีต และคาดการณ์อนาคต เพิ่มขีดความสามารถในการจัดการกับปัญหาเชิงพื้นที่ และบริหารจัดการทรัพยากร เปิดโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับเชิงพื้นที่ใหม่ ๆ ได้อย่างมากมาย ซึ่งแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของระบบภูมิสารสนเทศและเทคโนโลยี GNSS ในภูมิภาคนี้สูงมาก เราจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาในการพัฒนา ขับเคลื่อน และแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิสารสนเทศได้ ซึ่งคณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ จะช่วยในการผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ผ่านแผนแม่บทภูมิสารสนเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ที่ทางคณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติเห็นชอบไปแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
โฆษก GISTDA กล่าวอีกว่า งานในวันนี้เรายังได้หลายหน่วยงานพันธมิตรมาร่วมเสวนาและพูดคุยเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จาก NCDC อาทิ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยข้อมูลเชิงตำแหน่งและเทคโนโลยีดาวเทียม GNSS” จากกรมแผนที่ทหาร กรมที่ดิน สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางภูมิสารสนเทศ โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการประมวลผลของหน่วยงานภาครัฐ และสนับสนุนทุนพัฒนานวัตกรรม GNSS รวมทั้งบริษัท แนคคร่า ไมโครเทค จำกัด ผู้แทนหน่วยงานภาคเอกชนในการนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้งาน นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี GNSS จากทีม TAF จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีม RBRU-GI มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ในการพัฒนาต้นแบบสำหรับการแจ้งเตือนภัยพิบัติล่วงหน้ารวมทั้งแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยี GNSS จากผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ อีกด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.