วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมผลสำเร็จของโครงการ “การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบตรวจจับไฟป่าในระยะเริ่มต้นโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์” โดยมี นายอภิเษก หงษ์วิทยากร และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินโครงการฯ ณ สถานีควบคุมไฟป่าแม่ปิง อุทยานแห่งชาติแม่ปิง และสถานีตำรวจภูธรก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน
นายอภิเษก หงษ์วิทยากร แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยภายใต้กิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม แก่คณะนักวิจัย ม.ศิลปากร ในการดำเนินโครงการ “การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบตรวจจับไฟป่าในระยะเริ่มต้นโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์” เพื่อพัฒนาต้นแบบระบบการตรวจจับไฟป่าในระยะเริ่มต้นโดยใช้กล้องความละเอียดสูง ซึ่งควบคุมการทำงานด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่เปรียบเสมือน “ดวงตา” ที่คอยจับตามองหาควันไฟจากทุกทิศทาง สามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์โหนดเซ็นเซอร์จากโครงการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบเฝ้าระวังไฟป่าอัจฉริยะ ที่เปรียบเหมือน “จมูก” ที่คอยจับกลิ่นควันไฟแล้วระบุพิกัด ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 9 ชุด กระจายทั่วทั้งบริเวณอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ซึ่งมี รศ.ดร.ปานใจ ธารทัศนวงศ์ เป็นหัวหน้าโครงการดังกล่าว โดยการใช้ตรวจจับควันเพื่อให้เจ้าหน้าที่จากสถานีควบคุมไฟป่าสามารถใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยสามารถแสดงผลและแจ้งเตือนได้ในแผนที่ (Map visualization) ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ พร้อมบูรณาการข้อมูลและสารสนเทศและให้บริการกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการใช้และบำรุงรักษาระบบต้นแบบแก่บุคลากรของสถานีควบคุมไฟป่า ตลอดจนชุมชนเพื่อให้มีส่วนร่วมในการตรวจจับไฟป่าและการควบคุมไฟป่า
นายอภิเษก หงษ์วิทยากร หัวหน้าโครงการฯ กล่าวต่อว่า “จากข้อมูลการเกิดไฟป่าทางภาคเหนือของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 จนถึงปัจจุบัน ในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนบ่งชี้ให้เห็นว่ามีการจำนวนการเกิดไฟป่าสูง โดยเฉพาะในปี 2563 พบว่ามีจำนวนไฟป่าของทั้งสองจังหวัดรวมกันเป็นจำนวน 2,904 ครั้ง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.4 ของการเกิดไฟป่าในภาคเหนือ โดยมีพื้นที่ถูกไฟไหม้รวมกว่า 115,433 ไร่ นอกจากนี้ พื้นที่ทั้งสองจังหวัดยังถูกระบุเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดไฟป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ที่เป็นพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซากในระยะเวลา 22 ปี ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากไฟป่าไม่เพียงจะส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อสุขภาพของประชาชนด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลให้ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการไฟป่าด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการทำงานทั้งกระบวนการตั้งแต่การป้องกัน การกู้ภัย และควบคุม ดังนั้น คณะนักวิจัยจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการตรวจจับไฟป่าแบบบูรณาการ สำหรับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนสามารถเข้าถึงสารสนเทศและสามารถกู้ภัย ควบคุมไฟป่าตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดับไฟป่า และจำกัดขอบเขตพื้นที่ไฟไหม้ได้”
นายพิชิต ปิยะโชติ หัวหน้าชุดควบคุมไฟป่า สถานีควบคุมไฟป่าแม่ปิง เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติแม่ปิงมีพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน และ จ.ตาก เมื่อช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา พบปัญหาสถานการณ์ไฟป่าอย่างรุนแรงจากการลักลอบเผาป่า ซึ่งการที่คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้นำงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนจาก วช. เข้ามาใช้ในการเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดไฟป่าครั้งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเฝ้าระวังไฟป่าของเจ้าหน้าที่ ช่วยการระบุพิกัดของการเกิดไฟป่าได้อย่างแม่นยำ และหวังว่าในอนาคตคณะนักวิจัยจะได้ต่อยอดผลงานนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันมีการติดตั้งต้นแบบระบบตรวจจับไฟป่าในระยะเริ่มต้นโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ โดยติดตั้งกล้องความละเอียดสูงและระบบตรวจจับไฟป่าบนเสาสัญญาณวิทยุของสถานีตำรวจภูธรก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบ สามารถเห็นทัศนียภาพโดยรอบของอุทยานแห่งชาติแม่ปิงได้ โดยคณะนักวิจัยใช้ภาพจากกล้องความละเอียดสูง นำมาวิเคราะห์ข้อมูลและพัฒนาแบบจำลองโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ในพื้นที่วิจัย ในการฝึกสอนตัวแบบได้ใช้ภาพตัวอย่างที่เป็นควันไฟจากการเผาป่าเป็นหลัก เพื่อให้ระบบปัญญาประดิษฐ์สามารถตรวจจับไฟป่าในระยะเริ่มต้นได้ เมื่อได้ตัวแบบที่เหมาะสมแล้วจึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันตรวจจับไฟป่าขึ้น โดยแบ่งการทำงานเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การบริหารจัดการระบบ ผู้ดูแลระบบสามารถเพิ่มเติม แก้ไขข้อมูลอุปกรณ์ตรวจจับ และผู้ใช้งานระบบสามารถเข้ามาดูภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ย้อนหลังได้ ส่วนที่ 2 เป็นการแจ้งเตือนโดยผ่านแอปพลิเคชันไลน์แก่เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่า เมื่อระบบตรวจพบความผิดปกติจะแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่โดยระบุทิศทางและภาพสันนิษฐานว่าจะเป็นควันไฟป่า นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังสามารถเข้าดูภาพเหตุการณ์ย้อนหลังได้ ทั้งนี้ คณะนักวิจัยยังได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อให้บริการข้อมูลที่ได้จากการวิจัย อาทิ เทศบาลตำบลก้อ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาน อ.ลี้ จ.ลำพูน และสถานีควบคุมไฟป่าแม่ปิง อุทยานแห่งชาติแม่ปิง และยังได้ร่วมมือกับโครงการก้อแซนด์บ๊อกซ์ โดยชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เพื่อขยายผลในการสร้างความร่วมมือกับชุมชนในการเฝ้าระวังการเกิดไฟป่าในระยะยาวต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.