นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 จัดโดย คณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) ในการนี้ นายไมตรี อินทสุต กรรมการ ก.พ.ร. ได้มอบรางวัล “บริการภาครัฐระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ" จากผลงาน "การเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ ให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ" ให้แก่ ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะผู้แทน วว. ซึ่งผลงานดังกล่าวมุ่งการมีส่วนร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล มีความปลอดภัย เพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการทั้งการผลิตและการส่งออก โดยไม่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบต่างประเทศ ลดระยะเวลา ค่าใช้จ่าย ส่งเสริม สนับสนุน ให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทางการแพทย์ในประเทศไทย มีผลิตภัณฑ์ที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล รวมผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการดำเนินการจำนวน 470.43 ล้านบาท
ทั้งนี้ ก.พ.ร. มอบรางวัลเลิศรัฐให้แก่หน่วยงานที่มุ่งเน้นการพัฒนาความเป็นเลิศด้านบริการภาครัฐ ส่งเสริมการยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐในการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐยกระดับมาตรฐานให้เทียบเท่าสากล ตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐและมุ่งเข้าสู่องค์การที่เป็นเลิศ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 ณ ห้อง Grand Diamond Ballroom ชั้น 2 อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงผลงาน "การเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ" ว่า กลุ่มงานบริการอุตสาหกรรม วว. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ โดยมุ่งการมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากลและมีความปลอดภัย เพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการทั้งการผลิตและการส่งออก โดยไม่จำเป็นต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบยังต่างประเทศ ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่าย ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทางการแพทย์ในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล ช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สำหรับจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับนานาประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติต่อไปอย่างยั่งยืน โดย วว. จะเพิ่มการพัฒนาและต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ขั้นสูง เช่น ชิ้นส่วนด้านทันตกรรม เหล็กยึดตรึงกระดูกและข้อต่อเข่าเทียม เป็นต้น รองรับการออกมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการวิเคราะห์ /ทดสอบ/สอบเทียบ สำหรับผลิตภัณฑ์ขั้นสูงได้ต่อไปในอนาคต
“...จุดเริ่มต้นในการพัฒนาผลงานการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติของ วว. เป็นผลจากความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ทดสอบเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของท้องตลาดและมีคุณภาพตามมาตรฐานกำหนด ปัจจุบัน วว. พบปัญหาของผู้ประกอบการในเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งประเทศไทยมีทั้งที่ผลิตได้เองและนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ โดยปัญหาของผลิตภัณฑ์คือ ต้องผ่านการวิเคราะห์ทดสอบเพื่อให้ได้คุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐานและครอบคลุมด้านความปลอดภัย หากทดสอบได้เองในประเทศ โดยไม่ต้องส่งออกไปทดสอบต่างประเทศ จะช่วยลดต้นทุนได้มากถึง 40.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 80.6 ซึ่ง วว. พร้อมตอบโจทย์ด้วยความรู้ความสามารถด้านการวิเคราะห์/ทดสอบ/สอบเทียบ ชิ้นส่วนอุปกรณ์บรรจุภัณฑ์ทางการแพทย์และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง มีห้องปฏิบัติการที่ได้รับรับรอง ISO/IEC 17025 พร้อมทั้งเครื่องมือที่ทันสมัย ให้ผลการวิเคราะห์/ทดสอบถูกต้องแม่นยำ พร้อมให้บริการผ่านระบบดิจิทัล ที่สามารถรวบรวมฐานข้อมูลลูกค้า/ผู้ประกอบการ นอกจากนั้นลูกค้ายังสามารถตรวจสอบสถานะการให้บริการได้ผ่านแพลตฟอร์ม วว. JUMP ...” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. กล่าวว่า ผลผลิตจากการดำเนินการ "การเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ" ประกอบด้วย 1) ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาระบบห้องปฏิบัติการวิเคราะห์/ทดสอบ/สอบเทียบ ที่สามารถรายงานผลการวิเคราะห์/ทดสอบ/สอบเทียบ เพื่อรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ตามมาตรฐานสากล 2) ให้บริการวิเคราะห์/ทดสอบ/สอบเทียบ จำนวน 3,215 รายการ จากผลิตภัณฑ์จำนวน 39 ผลิตภัณฑ์ ส่วนผลลัพธ์จากการดำเนินการ มีดังนี้ ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทางการแพทย์ในประเทศไทยที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยไม่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบยังต่างประเทศจำนวน 39 ผลิตภัณฑ์ ช่วยลดระยะเวลาการวิเคราะห์/ทดสอบ/สอบเทียบได้ร้อยละ 88.9 และลดระยะเวลาการวิเคราะห์ฯ ลงโดยรวมจาก 8-9 เดือน คงเหลือ 1 เดือน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์/ทดสอบ/สอบเทียบได้เฉลี่ยร้อยละ 90.0 และช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้เฉลี่ยร้อยละ 5.8 ต่อชิ้น และลดต้นทุนได้เฉลี่ยร้อยละ 80.6
นอกจากผลผลิตและผลลัพธ์ดังกล่าวแล้ว ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อผู้ประกอบการที่ได้รับบริการหรือมีการนำผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. ไปใช้ประโยชน์ ในการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านเครื่องมือแพทย์ คือ ต้นทุนลดลงเฉลี่ย 40.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 80.6 สามารถลงทุนเพิ่ม 39.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 118.7 มีรายได้เพิ่มขึ้น 382.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1,465.1 และมีกำไรเพิ่ม 1.52 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 72.4 นอกจากนี้ประชากรในประเทศไทยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการตรวจรักษาและป้องกันโรค ด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ ประชากรจากต่างประเทศในทุกภูมิภาคทั่วโลก มีความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ มีความเชื่อมั่นในการรักษาสุขภาพด้วยระบบการแพทย์ไทย ดังนั้นจากการเพิ่มของผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศ จะช่วยเพิ่มการจ้างงานในระบบและเพิ่มแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม ทำให้ประชากรที่มีความมั่นคงในรายได้มีจำนวนมากขึ้น กล่าวคือ รายได้เพิ่ม 1.07 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 968.3 ลดค่าใช้จ่ายได้ 5.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.9 รวมผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการดำเนินผลงาน "การเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ" เป็นจำนวน 470.43 ล้านบาท
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.