7 กันยายน 2566 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานสัมมนา “การสร้างความต่อเนื่องการพัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศจากดาวเทียม THEOS-3” พร้อมเปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางของอุตสาหกรรมอวกาศประเทศไทย” และ “THEOS-3 กับการพัฒนาประเทศ” โดยได้รับเกียรติจากนักวิชาการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศมาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น งานนี้ได้รับความสนใจจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นถึงทิศทางของอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยและการพัฒนาดาวเทียม THEOS-3 กับการใช้ประโยชน์ในประเทศ ณ ห้อง Grand C โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชัน หลักสี่ กรุงเทพมหานคร
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักๆ คือเราต้องการรวบรวมหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ข้อมูลจากดาวเทียม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนทุนในการพัฒนาดาวเทียม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการระดมความคิดเห็นจากผู้ใช้งานจริงถึงความต้องการด้านข้อมูลของดาวเทียม THEOS-3 ที่มีแผนจะเตรียมสร้าง ทำให้ได้ข้อสรุปที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันโดยมุ่งเน้นไปที่ข้อมูลด้านการเกษตร เช่น ความชื้นในดิน คาร์บอนเครดิต ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำ เป็นต้น
ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวเสริมว่า ดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-3 จะเป็นดาวเทียม Micro satellite ขนาดประมาณ 120 กิโลกรัม วงโคจรแบบ Sun-synchronous ซึ่งมีแผนจะนำขึ้นสู่อวกาศภายในปี 2569-2570 มีต้นแบบการออกแบบมาจากดาวเทียม THEOS-2A จากการสร้างบุคลากรภายใต้โครงการ THEOS-2 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 โดย GISTDA ได้ส่งทีมวิศวกรจำนวน 22 คน เข้ารับการเรียนรู้และฝึกอบรมด้วยการลงมือปฏิบัติงานจริงร่วมกับทีมวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างดาวเทียมจากบริษัท Surrey Satellite Technology Ltd (SSTL) เพื่อออกแบบ ประกอบและทดสอบดาวเทียม THEOS-2A เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ซึ่งจะเป็นกำลังหลักในการสร้างดาวเทียม THEOS-3 เป็นการให้ความสำคัญกับการสร้างเทคโนโลยีเองในประเทศ ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่อุทยานรังสรรค์และนวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศที่สำคัญที่มีมาตรฐานระดับโลกในการประกอบและทดสอบดาวเทียมในครั้งนี้ด้วย
แผนการสร้างดาวเทียม THEOS-3 ไม่ได้มีแค่ดาวเทียมเท่านั้น แต่ยังมีการต่อยอดในด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ หลักสูตรด้านการออกแบบและพัฒนาดาวเทียมและระบบภาคพื้นดินในรูปแบบออนไลน์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมถึงพัฒนาหลักสูตรในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านบุคลากรพร้อมใช้รวมถึงส่งเสริมขีดความสามารถผู้ประกอบการไทยในการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมตามมาตรฐานสากล ซึ่งที่ผ่านมาทำได้จริงแล้วสามารถผลิตให้กับดาวเทียม THEOS-2A ได้ ด้วยความพร้อมดังกล่าว GISTDA จึงสร้างความต่อเนื่องในการเตรียมสร้างดาวเทียม THEOS-3 เพื่อใช้งานในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการใช้งานจริงของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศที่ใช้ชิ้นส่วนดาวเทียมจากผู้ประกอบการไทย และใช้วิศวกรไทยในการออกแบบ และพัฒนา นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าขยายเครือข่ายผู้ประกอบการไทย และวิศวกรไทยด้านอวกาศให้มากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่กำลังเป็นที่น่าสนใจในขณะนี้ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ และพัฒนาศักยภาพด้านอวกาศของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาชาติต่อไป ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.