(4 ธันวาคม 2563) 4 ธันวาคม 2563) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA นำ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เข้าเยี่ยมชมและพปปะหารือแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อน “ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค” และการพัฒนาด้าน “อนาคตศาสตร์” ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรจากทรู ดิจิทัล พาร์ค และศูนย์วิจัยฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดยตั้งเป้าส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพในด้านดิจิทัล การลงทุนของต่างชาติ และส่งเสริมสู่พื้นที่แห่งการแจ้งเกิดผู้ที่มีความสามารถหรือ Talent ในด้านดิจิทัลและก้าวไปสู่การทำนวัตกรรมเชิงลึกในอนาคต นอกจากนี้ ยังมุ่งส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายนักอนาคตศาสตร์ ที่จะร่วมกันศึกษาและวิจัยด้านการมองอนาคต และส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูล สารสนเทศและองค์ความรู้สู่สาธารณะ ตลอดจนเตรียมความพร้อมให้คนในสังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคต
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมของประเทศไทยจำเป็นอย่างที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน โดยทางอว.มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ขณะนี้ภาคเอกชนให้ความสนใจ และเล็งเห็นความสำคัญในการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาประเทศร่วมกับภาครัฐ อย่างเช่นการทำงานของศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา หรือฟิวเจอร์ เทลส์ แล็บ ซึ่งเป็นศูนย์ที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อทำการรวบรวมข้อมูล-สถิติที่เคยเกิดขึ้นกับสังคม และแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาวางแผน และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งทรู ดิจิทัล พาร์ค ที่ขณะนี้กำลังพัฒนาพื้นที่ปุณณวิถีร่วมกับ NIA ให้เป็นย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค เพื่อสร้างพื้นที่ให้แก่สตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรม การทำเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงการสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัล ทั้งนี้ เชื่อว่าจุดเด่นสำคัญที่ควรผสมผสานเข้าไปกับการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือ “อัตลักษณ์” เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงกับบริบทความเป็นจริงของประเทศ รวมถึงเผยแพร่มุมมองความเป็นไทยให้ทั้งในและต่างประเทศได้รับรู้
ด้าน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ที่ผ่านมา NIA มีความตั้งใจที่จะพัฒนาพื้นที่ปุณณวิถีสู่ “ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค” แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม ไลฟ์สไตล์ และบริบทการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของเมือง ตลอดจนผลักดันระบบนิเวศที่เอื้อต่อภาคส่วนต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้ต่อไปในอนาคต การเกิดขึ้นของย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทคในพื้นที่ปุณณวิถี นอกจากจะเป็นประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดการทำธุรกิจนวัตกรรม การลงทุน รวมถึงโอกาสที่สำคัญหลายอย่าง เช่น ศูนย์กลางของอุตสาหกรรมดิจิทัล การลงทุนของต่างชาติ สถาบันเฉพาะทางด้านดิจิทัล และความเป็นอยู่และสังคมที่มีความอัจฉริยะมากขึ้น ทั้งนี้NIA ได้ร่วมมือกับเครือข่ายในการพัฒนาย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทคมาอย่างต่อเนื่อง โดยจากการดำเนินการที่ผ่านมาส่งผลให้สามารถจัดตั้งศูนย์บริการผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (District C-One-stop Service Center) ซึ่งเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือสตาร์ทอัพ ทั้งในและต่างประเทศ ที่ต้องการจัดตั้งและขยายธุรกิจโดยการให้คำปรึกษาผ่านองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายด้าน และส่งเสริมให้สตาร์ทอัพนำ Deep Tech เข้ามาใช้ในธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่างให้แก่นวัตกรรมที่ดำเนินการอยู่
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า สำหรับการวางแผนพัฒนาย่านไซเบอร์เทค ได้วางปัจจัยส่งเสริมและพัฒนา 3 ด้าน คือ 1. แผนพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะเร่งดำเนินเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ส่งเสริมการดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัพในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เข้ามาใช้พื้นที่ภายในย่าน 2. แผนพัฒนาด้านกายภาพ โดยส่งเสริมการปรับปรุงผังเมืองเพื่อรองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจดิจิทัลภายในย่าน พัฒนาพื้นที่ภายในเป็น Test Based Area สำหรับอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยี ในรัศมี 800 เมตรจากศูนย์กลางย่าน และ 3. แผนพัฒนาด้านเครือข่าย ซึ่งจะเน้นทั้งการสร้างเครือข่ายระบบนิเวศสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพรายใหม่ภายในย่าน การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษา
นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือระหว่างสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (IFI) กับศูนย์วิจัยด้านอนาคตศึกษาของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (MQDC) หรือศูนย์วิจัยฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FTL) ที่จะบูรณาการนำเครื่องมือด้านการมองอนาคต (Foresight) มาใช้ในการออกแบบอนาคต เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งศึกษาความเปลี่ยนแปลงในอนาคตของการใช้ชีวิต โดยใช้นวัตกรรมและความรู้ใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาสะท้อนภาพของการอยู่อาศัย การทำงาน การเรียนรู้ การใช้เวลาว่าง คมนาคมขนส่ง การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ เพื่อนำไปสู่บริบทของความยั่งยืน อย่างไรก็ตามความร่วมมือนี้เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายการพัฒนาสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1. พัฒนาเครือข่ายนักอนาคตศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ 2. พัฒนาความร่วมมือในการศึกษาและวิจัยด้านการมองอนาคต และ 3. ส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศและองค์ความรู้สู่สาธารณะ เพื่อสร้างความตระหนักถึงอนาคตที่จะมีการเปลี่ยนแปลงและสร้างนวัตกรรมเพื่อรับมือ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FTL) เป็นศูนย์วิจัยของบริษัทเอกชนรายแรกที่ทำการวิจัยด้านอนาคตศาสตร์ โดยมุ่งเน้นเพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของการใช้ชีวิตในอนาคต โดยใช้เครื่องมือการมองอนาคตเพื่อสะท้อนภาพของการอยู่อาศัย การทำงาน การเรียนรู้ การใช้เวลาว่าง คมนาคมขนส่ง และ บริบทของความยั่งยืน ซึ่งในปี 2564 นี้ NIA และศูนย์วิจัยฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ จะยังคงร่วมมือพัฒนางานวิจัยด้านอนาคตศาสตร์ในอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมและวิถีชีวิต ที่เป็นรากฐานสำคัญสำหรับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเป็นจุดเริ่มต้นของ “นวัตกรรม” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมในหมู่นักอนาคตศาสตร์และประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายฐนสรณ์ ใจดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ทรู ดิจิทัล พาร์ค กล่าวว่า ทรู ดิจิทัล พาร์ค มีความตั้งใจที่จะผลักดันย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค ให้เป็นระบบนิเวศทางนวัตกรรมที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และภาคสังคม สามารถให้ประโยชน์จากพื้นที่ปุณณวิถีที่ไม่ว่าจะเป็นในด้านองค์ความรู้ การเชื่อมโยงเครือข่าย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ โดยสิ่งที่ทรู ดิจิทัล พาร์คกำลังผลักดันในขณะนี้มีทั้งการส่งเสริมเรื่องสมาร์ทวีซ่า (Smart Visa) เพื่อเอื้อสิทธิประโยชน์ในการดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน การส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ หรือ S-Curve ในส่วนของดิจิทัลให้เกิดขึ้นในรูปแบบของการกระจายตัว เพื่อเป็นต้นแบบให้กับสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมที่มีความสนใจ ต่อเนื่องไปจนถึงการสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกันนี้ยังมีความตั้งใจจริงที่จะสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และพันธมิตรเอกชนรายอื่น ๆ เพื่อให้การเติบโตทางดิจิทัลของไทยเป็นที่ยอมรับ และมีความยั่งยืนต่อไป
“ขณะนี้ทรู ดิจิทัล พาร์ค ถือเป็นพื้นที่ทางนวัตกรรมดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบที่สุดในกรุงเทพฯ และในประเทศ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าหลังจากที่พัฒนาพื้นที่แห่งนี้มาได้ 3 ปี การส่งเสริมในมิติของทรูฯ และ NIA ได้เริ่มเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาจัดตั้งสำนักงานของบริษัทต่าง ๆ จำนวน 53 ราย และมีจำนวนพนักงานที่ทำงานในบริษัทเหล่านี้กว่า 4,000 คน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นว่าโอกาสในการจ้างงานในด้านดิจิทัลของประเทศไทยจะมีมากขึ้น การสร้างมูลค่าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการที่เติบโตตาม นอกจากนี้ ยังมีความสำเร็จอื่น ๆ ทั้งการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติจำนวน 8 ประเทศ มีสตาร์ทอัพกว่า 90 รายที่เข้ามาขอคำปรึกษา การเริ่มดำเนินธุรกิจ และเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน รวมทั้งมีการใช้พื้นที่เพื่อการจัดกิจกรรมทั้งอีเว้นท์ออนไลน์ การสัมมนา การอบรมให้ความรู้ด้านดิจิทัลซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้แล้วมากกว่า 1 ล้านคน”
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 เว็บไซต์ www.nia.or.th และ facebook.com/NIAThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.