รมว.เอนก ประชุมหารือสถานการณ์โรคโควิด-19 กับมหาวิทยาลัยในสังกัดและหน่วยงานใน อว.
พร้อมทั้งให้นโยบาย “อว.จะเป็นหลักในการสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลและ ศบค. ในด้านวิชาการ ข้อมูล การบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุข
จะปฏิบัติงานตามภารกิจหลักท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง” แนะทุกคน ต้องเตรียมพร้อม ตื่นตัว แต่ต้องไม่แตกตื่น
22 ธันวาคม 2563 : ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ประชุมผู้บริหารระดับสูงใน อว. และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อหารือสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยมี ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีฯ นายสำราญ รอดเพชร ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ และคณะทำงานของรัฐมนตรี อว. ศ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงฯ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงฯ และผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานปลัดฯ หน่วยงานและสถาบันในสังกัด ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ถนนศรีอยุธยา พร้อมทั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยที่มีโรงเรียนแพทย์และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมทางไกลผ่านระบบ Teleconference
ดร.เอนก รมว.อว. กล่าวในการประชุมว่า การหารือเพื่อการทำงานของ อว. ในครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อความปลอดภัยและเพื่อความไม่ประมาทภายใต้สถานการณ์โรคโควิด-19 ขณะนี้เราทุกคน ต้องทันสถานการณ์ เตรียมพร้อม ตื่นตัว แต่ต้องไม่แตกตื่น ต้องปฏิบัติตนอย่างพอเหมาะ นิสิตนักศึกษา อาจารย์และบุคลากร ของ อว. อาจมีส่วนร่วมในการบรรเทาปัญหาของประเทศด้วยการเป็นอาสาสมัครในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ ในรูปแบบอาสาสมัครนิสิต อาสาสมัครอาจารย์ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการกระจายกันไปช่วยเหลือชุมชนของตนเอง ของท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้ อว. มีบทบาทกับชุมชนมากขึ้น นอกเหนือจากการให้บริการด้านการแพทย์ การวิจัยด้านยาและเวชภัณฑ์ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในประเทศเราด้วย
ศ.ดร.สิริฤกษ์ ปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่า นโยบายของ รมว.อว. ที่เกี่ยวกับบทบาทของ อว. ในสถานการณ์โรคโควิด-19 มี 3 ด้าน คือ 1. อว.จะดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของนิสิต นักศึกษา อาจารย์และบุคลากรทุกคน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2 ล้านคนเศษในหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดและในกำกับของ อว. 2. อว.จะปฏิบัติงานตามภารกิจหลักของ อว.อย่างต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยมีระบบสนับสนุน เช่น ระบบ Online ระบบ E-Learning และระบบสนับสนุน Work From Home 3. อว.จะเป็นหลักในการสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลและ ศบค. โดยเฉพาะด้านวิชาการ ข้อมูล การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งการวิจัย
ปลัด อว. กล่าวต่อไปว่า การดำเนินบทบาทของ อว.ในสถานการณ์โรคโควิด-19 จะใช้กลไกใน 3 ส่วน คือ การดูแลนิสิตนักศึกษาและบุคลากร ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงฯ จะเป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก โดยจะมี EOC (Emergency of Operation Center) ระดับกระทรวงเพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน และจะมีศูนย์ Hot Line และ Health Line ช่วยเหลือสนับสนุน กลไกที่ 2 การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข จะมี UHosNet (ผู้แทนของโรงเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัย) เป็นผู้แทนของ อว. ในการประสานเรื่องการบริการทางการแพทย์กับกระทรวงสาธารณสุขและพื้นที่ต่างๆ กลไกที่ 3 การสนับสนุนทางวิชาการการวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะเป็นผู้รับผิดชอบและเป็นผู้แทนของ อว.ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ให้กับ ศบค. และเป็น Focal Point (หน่วยกลาง) รับผิดชอบการสนับสนุนทางวิชาการและวิจัย โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.)
“อว.จะปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบตามแนวทางที่ท่าน รมว.อว. ได้ให้นโยบายไว้ และพร้อมที่จะดำเนินการสนับสนุน ในการดูแลประชาชนและให้บริการด้านการแพทย์ร่วมกับรัฐบาลอย่างเต็มความสามารถ อีกทั้งในการประชุมวันนี้ท่าน รมว.อว. ได้แสดงความห่วงใย ขอให้ สป.อว. ประสานงานอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ความดูแลสถาบันอุดมศึกษาของ อว.รวมทั้งนิสิตนักศึกษา อาจารย์และบุคลากร ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครอีกด้วย” ปลัด อว.กล่าวในตอนท้าย
ถ่ายภาพ : อินทิรา บัวลอย
เขียนข่าว : ปิยาณี วิริยานนท์
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2039 5609 Facebook : @opsMHESI/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.