รมว.อว.กล่าวต่อว่า รมว.อว.กล่าวต่อว่า ส่วนอีกผลงานคือเทคโนโลยีอวกาศ ภายในอีก 4-5 ปี จากนี้ไป ประเทศไทยจะทำดาวเทียมระดับ 50-100 กิโลกรัม และหลังจากนั้นอีก 3 ปี จะมีการพัฒนาดาวเทียมที่โคจรรอบโลกเป็นยานอวกาศที่โคจรรอบดวงจันทร์ ยานอวกาศดังกล่าวจะถูกเร่งความเร็วเพื่อเพิ่มวงโคจรไปจนกระทั่งถึงดวงจันทร์ ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ปี และเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ ส่วนหนึ่งของการขยายความสามารถทางอวกาศเพราะปัจจุบันโลกกำลังพูดถึงเศรษฐกิจอวกาศ และจะเป็นหนทางสำคัญที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ประเทศไทยกำลังจะสร้างวิธีคิดใหม่ ว่าเราสามารถทำได้ ถือเป็นความสำเร็จของวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ คาดว่าจะใช้งบประมาณเพียง 3,000 ล้านบาทเท่านั้น
“ในทุกปัญหาและวิกฤติย่อมก่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อนำประเทศฝ่าวิกฤติ ทั้งยังเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น และกระทรวง อว.ยังคงเดินหน้าในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำพาประเทศไทยก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง” ศ.ดร.เอนก กล่าว
ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ตลอดปี 2563 อว.มีเรื่องเด่น 3-4 เรื่อง โดยได้มีการประสานหลอมรวมระหว่างอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในการทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว และจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา อว.ได้มีการสนับสนุนการวิจัยด้านยา ชุดตรวจและวัคซีนรวมทั้งยังได้สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ งานวิจัยและนวัตกรรม วิเคราะห์ข้อมูลและติดตามให้กับศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ปลัด อว.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสำคัญในการให้บริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขจากโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยในสังกัด อว.กว่า 20 แห่งทั่วประเทศ ในการทำงานร่วมกับสาธารณสุขทุกแห่งเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์มาตั้งแต่การระบาดช่วงที่แล้วและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทั้งในส่วนของบุคลากร เจ้าหน้าที่ แพทย์และพยาบาล อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ พร้อมปฏิบัติหน้าที่รองรับผู้ป่วยอย่างเต็มกำลังความสามารถ สิ่งสำคัญคือนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าเราทำได้ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนป้องกันโรคจากไวรัสโควิด-19 โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามนโยบายของ อว. ซึ่งได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชได้สำเร็จแล้วในระดับห้องปฏิบัติการ และพร้อมก้าวไปอีกขั้นในการผลิตวัคซีนได้เองตั้งแต่ต้นน้ำลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ในโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย”
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ : นวัตกรรมชุด PPE Disposable Coverall Level 4 รุ่นเราชนะ สำหรับปฎิบัติงานในสภาวะที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส นวัตกรรมชุด PPE (Isolation Grown) รุ่นเราสู้ สำหรับปฏิบัติงานในสภาวะเสี่ยงน้อยถึงปานกลางหรือการทำหัตถการที่มีเลือดกระเด็นใส่น้อย ชนิดใช้ซ้ำได้ครั้งแรกของโลกที่สามารถซักและใช้ซ้ำได้ไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง โดยนวัตกรรมทั้งหมดเป็นผลิตด้วยการรีไซเคิลจากขวด PET
โครงการวิจัยชุดนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อการป้องกัน ตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษาการติดเชื้อโควิด-19 โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ศลช.) : ได้แก่ หน้ากากอนามัย WIN-Masks ที่ทำจากผ้าเคลือบสารนาโนป้องกันไวรัส สามารถซักได้ 30 ครั้ง ซึ่งได้ผลิตและแจกจ่ายให้กับบุคลากรทางการแพทย์กว่า 2 แสนชิ้นทั่วประเทศ นวัตกรรม AI อัจฉริยะ สำหรับการวินิจฉัย วิเคราะห์ภาพเอ็กซ์เรย์ทรวงอกในการตรวจคัดกรอง โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าเราสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างสมบูรณ์แบบ