อว. ห่วงใยบุคลากรที่ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุโนรู มอบ “ดนุช” เลขารัฐมนตรี อว. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์พร้อมมอบสิ่งของจำเป็น ในพื้นที่เครือข่ายมหาวิทยาลัยจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มที่แรก มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) และคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมพร้อมมอบสิ่งของให้กับบุคลากร อว. ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดจากพายุโนรูเคลื่อนผ่านประเทศไทย ที่เครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 2 จังหวัด คือ จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดมหาสารคาม ระหว่างวันที่ 8-9 ตุลาคม 2565 โดยวันนี้ (8 ตุลาคม 2565) เวลา 18.00 น. ทางคณะได้เดินทางไปที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ โดยมี ผศ.ดร.สหัสา พลนิล รองอธิการบดี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ให้การต้อนรับ พร้อมรายงานผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ณ อาคารสิริวัณณวรี กีฬาเวศน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
ดร.ดนุชฯ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า ทางคณะได้เดินทางมาถึงที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. หลังจากนั้นได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณทั่วมหาวิทยาลัย พบว่า จุดที่น้ำท่วมสูงที่สุดคือ เกือบ 4 เมตรที่บริเวณบ้านพักผู้บริหาร บุคลากร และหอพักนักศึกษาทางด้านหลังมหาวิทยาลัยที่ติดกับห้วยสำราญ ซึ่งผมได้แนะนำให้กับทางคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยไว้ว่า ให้นำแผงโซล่าเซลล์มาติดตั้งเพื่อให้ความสว่างทั่วพื้นที่ในยามค่ำคืน หากมีเหตุจำเป็นต้องเดินทางเข้าไปในบริเวณดังกล่าว
สถานการณ์น้ำท่วมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษเกิดขึ้นหลังจากจบงานรับปริญญาบัตรเมื่อราว ๆ ปลายเดือนกันยายน ซึ่งนับว่าเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมน้ำครั้งใหญ่ในรอบ 11 ปี เป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นแต่ถือว่าที่นี่ยังมีเวลาที่จะเตรียมการและขนย้ายสิ่งของ ย้ายที่อยู่ได้ทัน ไม่เหมือนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ไม่เกิน 5 ชั่วโมง ต้องนำเรือมารับนักศึกษาออกจากมหาวิทยาลัย
ในโอกาสนี้ ผมได้นำความห่วงใยจากท่านรัฐมนตรีเอนก ท่านปลัดกระทรวงสิริฤกษ์ และผู้บริหารเจ้าหน้าที่ของ อว. มามอบให้ทุกคน เพื่อเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรมหาวิทยาลัยรวมถึงนักศึกษาและผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนกับสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ ผมเชื่อว่าทุกคนจะผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้อย่างปลอดภัย และผมจะนำข้อมูลรายงานเหตุการณ์ครั้งนี้ไปนำเรียนต่อคณะผู้บริหารกระทรวงทราบเพื่อที่จะหาทางช่วยเหลือเยียวยาในโอกาสต่อไป
ด้าน ผศ.ดร.สหัสาฯ รองอธิการบดี รายงานว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ได้รับผลกระทบจากพายุใต้ฝุ่นโนรูพัดเข้าถล่มประเทศไทย จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2565 ทำให้มีปริมาณน้ำจำนวนมาก ผนวกกับปริมาณน้ำในพื้นที่ที่มีอยู่เดิม ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบทั่วบริเวณกว่า 535 ไร่ บ้านพักบุคลากรและสนามกีฬาเสียหายทั้งหมด ระบบแอร์ ระบบไฟฟ้า หอพักบางส่วน ผิวจราจรทั้งหมด บริเวณชั้น 1 ทุกอาคารเรียนได้รับผลกระทบ จากสถิติ พบว่า น้ำค่อย ๆ เพิ่มระดับ ขึ้นตั้งแต่ วันที่ 29 กันยายน 2565 วัดระดับน้ำจากโซนบ้านพักอาจารย์ได้ 86 เซนติเมตร – วันที่ 8 ตุลาคม 2565 สูงถึง 250 เซนติเมตร และมีบุคลากรได้รับผลกระทบด้านที่อยู่อาศัย ประมาณ 60 ครัวเรือน โดยส่วนหนึ่งพักอาศัยในพื้นที่ของแต่ละคณะ อาคารสิริวัณณวรี กีฬาเวศน์ และศรีพฤทธาลัยราชภัฏสัมมนาคาร โดยมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการในเบื้องต้นดังนี้
1. จัดตั้งคณะกรรมอำนวยการอุทกภัย
2. จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
3. ออกประกาศ มาตรการช่วยเหลือนักศึกษาเนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยจากภัยธรรมชาติ ประจำภาคเรียนที่ 2/2565
4. ออกประกาศ แนวปฏิบัติการจัดการเรียนการสอน ประจำภาคเรียนที่ 2/2565
5. ออกประกาศ มาตรการเตรียมความพร้อมและให้ความช่วยเหลือในช่วงภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินอุทกภัย พ.ศ. 2565 สำหรับบุคลากร นักศึกษา กรณีได้รับผลกระทบจากที่อยู่อาศัย กรณีต้องการอพยพ หรือขนย้ายทรัพย์สิน กรณีต้องการอาหาร น้ำดื่ม ยา เวชภัณฑ์ กรณีการเดินทาง มาตรการ งดใช้อาคารเรียนที่สุ่มเสี่ยง และ ให้มีการ Work from Home ได้
และในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ได้จัดตั้งโรงทานประกอบอาหารแจกจ่ายผู้ประสบภัยภายในและภายนอกของมหาวิทยาลัย รวมถึงจัดทีมจิตอาสา (นักศึกษา บุคลากร) ช่วยประชาชนขนย้ายสิ่งของตามคำร้องขอ ซึ่งงบประมาณในการดำเนินการเบื้องต้นได้รับจากคณะผู้บริหาร คณาจารย์ คณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย และผู้มีจิตศรัทธาบริจาคสิ่งของ เครื่องใช้ ส่งมอบให้ผู้ประสบภัยเบื้องต้นแล้ว ซึ่งหากสถานการณ์มีระดับน้ำที่สูงขึ้นอีกจนไม่สามารถเปิดทำการได้ ทางมหาวิทยาลัยได้เตรียมออกประกาศ สำหรับปิดการเรียนการสอนไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในเวลาต่อมา ดร.ดนุชฯ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. พร้อมด้วย นางสาวสุณีย์ฯ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. และคณะ ได้มอบสิ่งของให้กับบุคลากร อว. อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้ง ยารักษาโรค หน้ากากอนามัย ฯลฯ ทั้งนี้ ได้ร่วมกันประกอบอาหารพร้อมรับประทานร่วมกับบุคลากร โดยในวันที่ 9 ตุลาคม 2565 ทางคณะจะเดินทางไปที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสารคามเพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นลำดับต่อไป
ข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ถ่ายภาพ : นางสาวอินทิรา บัวลอย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.