ดร.ดนุช นำทีมลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดจากพายุโนรูเคลื่อนที่ผ่านประเทศไทย ในพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นวันที่สอง
วันนี้ (9 ตุลาคม 2565) เวลา 10.30 น. ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) และคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดจากพายุโนรูเคลื่อนที่ผ่านประเทศไทย ในพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม โดยมี ดร.นิศารัตน์ โชติเชย คณบดีคณะวิทยาการจัดการ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ให้การต้อนรับ พร้อมรายงานผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ต่อมาในเวลา 13.00 น. ได้เดินทางต่อไปยังมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีรองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้การต้อนรับและรายงานสถานการณ์น้ำท่วม
ดร.ดนุชฯ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า อว. ขอแสดงความห่วงใยและขอเป็นกำลังใจให้บุคลากร อว. ในพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามและมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดจากพายุโนรู ถึงแม้ว่าทั้งสองแห่งนี้จะสถานการณ์ดีขึ้นมากแล้ว แต่ว่าโดยภาพรวมนั้นยังถือว่าไม่ปกติเพราะว่ามวลน้ำโดยรวมยังมีปริมาณที่มากอาจจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำซ้อนได้ จึงขอให้เตรียมการตั้งรับตลอดเวลาในช่วงนี้ หากเกิดเหตุการณ์เกิดขึ้นอีกจะได้เตรียมตั้งรับได้ทัน ในส่วนของเรื่องการสอบของนักศึกษาขอให้บริหารจัดการให้ดีอาจจะเลื่อนการสอบออกไปก่อนแล้วเปิดสอบใหม่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม และขอให้คาดการณ์ฝนตกน้ำท่วมตลอดเวลาพร้อมตั้งรับ ว่าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกจะต้องมีจุดที่พร้อมตั้งรับและให้ความช่วยเหลือนักศึกษาและบุคลากร สถานการณ์สร้างให้เราเรียนรู้และที่นี่โชคดีที่น้ำที่ท่วมนั้นลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้เตรียมการให้พร้อมรับสถานการณ์ตลอดเวลา พร้อมแนะให้จัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย
ด้าน ดร.นิศารัตน์ฯ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ในช่วงเช้า เวลาประมาณ 7.00 น. มีรายงานจากสื่อสังคมออนไลน์ ว่ามีมวลน้ำหลากข้ามถนนหมายเลข 291 จุดแยกแก่งเลิงจาน ถึงแยกตลาดเกษตร โดยเฉพาะหน้าร้านอาหารเรือนทองมีปริมาณน้ำไหลเชี่ยวและเพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากน้ำได้กัดเซาะพนังดินกั้นทางน้ำที่ใช้ผันน้ำจากแก่งเลิงจานสู่ประตูระบายน้ำท่าสองคอนเพื่อลงสู่น้ำชี จึงทำให้มวลน้ำจำนวนมหาศาลไหลทะลักข้ามถนนดังกล่าว และไหลลงสู่ห้วยคะคางเข้ามายังเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม
ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้ทราบข้อมูลจึงเรียกประชุมผู้บริหาร รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับมวลน้ำ และแก้ปัญหาฉุกเฉินเฉพาะหน้า โดยภายหลังจากประชุม ผู้บริหารได้สั่งการให้เร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด 3 แนวทาง คือ
1) ให้ขนย้ายทรัพย์สินของทางราชการที่จะเกิดความเสียหายขึ้นไปไว้ที่สูงโดยเฉพาะบริเวณ ที่ติดริมห้วยคะคาง ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเวลา 12.00 น.
2) ให้ดำเนินการเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยฯ
3) จัดตั้งวอลรูมในการกำกับสั่งการ และติดตามสถานการณ์ฉุกเฉินแบบเคลื่อนที่ และให้รายงานผลตลอด 24 ชั่วโมง
บ่ายวันที่ 5 ตุลาคม 2565 มวลน้ำจำนวนมากไหลเข้าสู่มหาวิทยาลัยฯ เอ่อท่วมบริเวณห้วยคะคางฉับพลัน ผู้บริหารได้สั่งการให้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ เช่น กระสอบทราย เรือขนย้าย ปั๊มสูบน้ำ เพื่อใช้ในการป้องกันมวลน้ำไม่ให้เข้าในตัวอาคาร หอพักนักศึกษา และบ้านพักบุคลากรให้ได้มากที่สุด ซึ่งในเบื้องต้นมหาวิทยาลัยฯ ได้รับความช่วยเหลือจาก กองพลทหารราบที่ 6 (ร้อยเอ็ด) ในการส่งกำลังพลมาช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของและบรรจุกระสอบทราย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยฯ ยังได้รับความช่วยเหลือจาก นักศึกษา ประชาชนจิตอาสา ชมรมกู้ภัยพระเจ้าศรีโสภณ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม องค์การนักศึกษา สโมสรนักศึกษา สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมหาสารคาม เทศบาลเมืองมหาสารคาม โรงพยาบาลมหาสารคาม ศูนย์แพทย์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และอื่น ๆ มากกว่า 30 หน่วยงาน
เย็นวันที่ 5 ตุลาคม 2565 จากกระสอบทรายที่ปิดกั้นทางน้ำไว้ไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและน้ำได้เอ่อล้นผ่านท่อระบายน้ำ ทำให้น้ำท่วมตามถนนรอบอาคารและมีระดับสูงขึ้นกว่า 2 เมตร อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตนักศึกษาและบุคลากร ในมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยประสบเหตุการณ์อุทกภัยมานานกว่า 20 ปี (ล่าสุดปี 2545) และได้ประกาศให้งดการจัดการเรียนการสอน นักศึกษาภาคปกติ ในวันที่ 6-7 ตุลาคม 2565 ส่วนภาคสมทบ และ ภาค กศ.บป. ในวันที่ 8-9 ตุลาคม 2565 สำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ประกาศให้ปฏิบัติงาน Work form Home และประจำการที่จุดต่าง ๆ ตามที่ได้มีคำสั่งมอบหมายจากผู้บริหาร เพื่อเตรียมความพร้อมเคลื่อนที่เร็ว ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารได้ใช้แผนเร่งด่วน โดยสั่งการให้ตัดกระแสไฟฟ้าในจุดที่เสียงต่ออันตรายและให้อพยพนักศึกษาและบุคลากรออกจากหอพัก บ้านพัก โดยกำหนดให้นักศึกษาเข้าพักที่อาคารคณะนิติศาสตร์ อาคารคณะครุศาสตร์ ส่วนบุคลากรให้เข้าพักที่ศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพสวนวรุณ รวมถึงนักศึกษาที่พักอาศัยอยู่ภายนอกที่ได้รับผลกระทบก็สามารถเข้ามาพัก ในจุดที่มหาวิทยาลัยฯ ได้กำหนดไว้
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2565 ปริมาณมวลน้ำในพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ที่เอ่อท่วมทั้งหมด จาก 80% ระดับน้ำได้ลดลงเหลือประมาณ 30% ในระหว่างนี้ พื้นที่ที่มีระดับน้ำลดลง ผู้บริหารได้สั่งการให้เข้าทำความสะอาด เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถใช้งานพื้นที่ได้ และคาดว่าในวันที่ 10 ตุลาคม 2565 ระดับน้ำจะลดลงอีก และกลับเข้าสู่สภาวะปกติ นักศึกษาและบุคลากร จะสามารถเข้าพักอาศัยและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติต่อไป
ทางด้านมหาวิทยาลัยมหาสารคาม รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วม โดยมีที่มาจากแหล่งน้ำเดียวกับที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เกิดความเสียหายในลักษณะที่ใกล้เคียงกันโดยเหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อประมาณวันที่ 5 ตุลาคม 2565 มีพื้นที่ที่มีจุดน้ำท่วมสูงสุดประมาณ 2 เมตร ปัจจุบันน้ำได้ลดลงเหลือระดับประมาณ 50 เซนติเมตร โดยอาคารที่ได้รับความเสียหายคือ อาคารเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 เป็นหอประชุมอเนกประสงค์ สามารถรองรับกิจกรรมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร และกิจกรรมทางด้านวิชาการ กิจกรรมการประชุม การอบรมสัมมนา การจัดนิทรรศการ ทั้งภายในมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ ชุมชน และเอกชนอื่น ๆ
ข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ถ่ายภาพ : นางสาวอินทิรา บัวลอย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.