เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย พญ. เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. รวมทั้งคณะผู้บริหารของ สป.อว. และหน่วยงานในกำกับของ อว. ได้ให้การต้อนรับและหารือกับ นายโมริยามะ มาซาฮิโตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น (Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology - MEXT) พร้อมด้วย นายโอทากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และคณะผู้แทนจาก MEXT ณ ห้องรับรองพระจอมเกล้า
รมว.อว. ได้กล่าวต้อนรับรัฐมนตรีกระทรวง MEXT และคณะ พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องด้วยดีตลอดมา โดยเฉพาะโครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็นซึ่งมุ่งผลิตวิศวกรนักปฏิบัติให้แก่ประเทศไทย รวมทั้งชื่มชมญี่ปุ่นที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอยู่ในชั้นแนวหน้าของโลก และยังมีการบริหารจัดการเรื่องสังคมสูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นการสร้างงานและพัฒนาทักษะเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุ
ในโอกาสนี้ รมว.อว. ได้เสนอให้กระทรวง MEXT สนับสนุนการดำเนินงานภายใต้โครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็นในระยะต่อไป ซึ่งรวมถึงการให้สถาบันไทยโคเซ็น KMITL และ KMUTT ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน KOSEN International Standard – KIS เพื่อรับรองคุณภาพและมาตรฐานที่เทียบได้กับสถาบันโคเซ็นในประเทศญี่ปุ่น การพิจารณาจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็นในสถาบันอุดมศึกษาไทยเพิ่มเติม รวมทั้งการพิจารณาจัดตั้ง KOSEN Education Center (KEC) เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาและฝึกอบรมในรูปแบบโคเซ็นในอนาคตซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่อไป
รัฐมนตรีกระทรวง MEXT กล่าวตอบโดยขอบคุณที่ รมว.อว. ได้เข้าร่วมการประชุม Japan-ASEAN High Level Roundtable on Science, Technology and Innovation ซึ่งกระทรวง MEXT เป็นเจ้าภาพจัดเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แสดงถึงการที่ อว. ให้ความสำคัญในการร่วมผลักดันความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกรอบอาเซียน-ญี่ปุ่น และได้กล่าวถึงนโยบายด้านการอุดมศึกษาของญี่ปุ่นว่า ญี่ปุ่นมุ่งส่งเสริมให้นักเรียน/นักศึกษาไปแลกเปลี่ยนและศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2576 จะเพิ่มจำนวนนักศึกษาญี่ปุ่นให้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศให้ถึง 500,000 คน และเพิ่มจำนวนนักเรียน/นักศึกษาต่างชาติในญี่ปุ่นให้ถึง 400,000 คน
.
.
รมว.อว. และ รัฐมนตรีกระทรวง MEXT ยังเห็นพ้องกันว่า ในความร่วมมือด้านอุดมศึกษาไทย-ญี่ปุ่นมีการจัดทำความตกลงความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของทั้งสองประเทศเพิ่มมากขึ้น และมีการพัฒนาความร่วมมือที่ครอบคลุมในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร และการจัดหลักสูตรแบบ Dual Degree Program สำหรับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาจมุ่งเน้นส่งเสริมความร่วมมือให้มากขึ้นในสาขา AI วิศวกรรมยานยนต์ขั้นสูง และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
รมว.อว. ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของทุนมงบุโช (Monbukagakusho) ซึ่งเป็นทุนที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้แก่นักศึกษาต่างชาติอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยมีนักศึกษาไทยเป็นจำนวนมากให้ความสนใจและมีความต้องการสมัครรับทุนดังกล่าวสูงมาก จึงขอให้กระทรวง MEXT พิจารณาความเป็นไปได้ในการสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษาไทยเพิ่มเติม ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวง MEXT ขอรับไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
รมว. อว.กล่าวปิดท้ายว่ายินดีสานต่อความร่วมมือกับกระทรวง MEXT ในทุกระดับ โดยเฉพาะด้านการพัฒนากำลังคน และจะส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาไทย-ญี่ปุ่นตลอดจนจะสนับสนุนความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายใต้กรอบอาเซียน-ญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ การมาเยือนไทยของรัฐมนตรีกระทรวง MEXT ในโอกาสนี้ นอกจากการหารือความร่วมมือกับ รมว. ศุภมาส แล้ว อว. ยังได้จัดให้ไปเยี่ยมชมการเรียนการสอนและพบปะกับนักศึกษา ณ สถาบันไทยโคเซ็น KMITL อีกด้วย
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นายสกล นุ่นงาม
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.