เมื่อวันที่ 13 พ.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “50 ปี มิตรภาพแบบครอบครัวเดียวกัน สู่ความร่วมมืออย่างยั่งยืนระหว่างไทย-จีน” ในงานพิธีเปิดศูนย์วิจัยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
สถาบันสังคมศาสตร์จีน (CASS-NSCT CCS) ประจำประเทศไทย และการสัมมนาวิชาการไทย-จีน ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “ครอบครัวไทย-จีนชิดใกล้ มุ่งสร้างชุมชนเป็นหนึ่งเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนะ และประสบการณ์เพื่อสานต่อองค์ความรู้สู่การพัฒนายุทธศาสตร์ความร่วมมือไทย-จีน และเป็นเวทีสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการของทั้งสองประเทศ โดยมี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. เข้าร่วม นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. ร่วมกล่าวแสดงความยินดี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดงาน นายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูตประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวรายงานความร่วมมือไทย-จีน และ ศ.หวัง ฉางหลิน รองประธานสถาบันสังคมศาสตร์จีน กล่าวปาฐกถาพิเศษ ณ อาคาร วช.8 ชั้น 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่ปีหน้า จะครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีน ที่มีความสัมพันธ์ยาวนานกว่า 2 พันปี ภายใต้คำขวัญ "ไทย-จีนพี่น้องกัน" บนพื้นฐานของความไว้วางใจและความร่วมมือซึ่งกันและกัน ปัจจุบันความสัมพันธ์ไทย-จีนได้พัฒนาสู่ระดับหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน โดยผ่านกลไกสำคัญ คือ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" (One Belt One Road) มุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคม และเชื่อมต่อภูมิภาคไทย มีบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางการเชื่อมต่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเลียงใต้ โดยมีความร่วมมือทางวิชาการเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ ซึ่งสถาบันสังคมศาสตร์จีน (CASS) และ วช. ร่วมส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่จะมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนนักวิจัย ร่วมวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรม ซึ่งล้วนส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตประชาชนทั้งสองประเทศ
นายเพิ่มสุข กล่าวว่า ในนามปลัด อว. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ความร่วมมือของ วช. และสถาบันสังคมศาสตร์จีนได้ดำเนินมาถึงก้าวสำคัญอีกหนึ่งก้าว ที่แสดงถึงความสำคัญในการสานความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน ในด้านการศึกษา การอุดมศึกษา และการวิจัย อว. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดทำโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและต่อยอดองค์ความรู้ พร้อมประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาประเทศและสังคมอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ความพยายามในการผลักดันความสำเร็จด้านการพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ร่วมกับ สถาบันสังคมศาสตร์จีนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่เครือข่าย อววน. ภายใต้กระทรวง อว. อีกทั้งเป็นการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างนักวิจัยไทยและจีน ในการพัฒนาผลงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ในหลากหลายมิติ ตนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งให้เป้าประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์วิจัยแห่งนี้บรรลุแก่เป้าหมายที่ตั้งไว้
ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนและสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในทุกมิติ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้กันต่อสถานการณ์โลก ซึ่งการจะพัฒนาประเทศตามแนวคิด กระบวนการ รวมถึงวิธีการที่กล่าวมาข้างต้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกับสถาบันสังคมศาสตร์จีน เพื่อร่วมกันส่งเสริม เชื่อมโยง และผลักดันให้เกิดผลงานวิจัย นวัตกรรมทางสังคมที่นำไปใช้ในการพัฒนาประเทศได้ จึงมุ่งหวังว่า ศูนย์วิจัยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และสถาบันสังคมศาสตร์จีนแห่งนี้ จะได้มีส่วนสำคัญในการเป็นศูนย์ส่งเสริมงานวิจัยและวิชาการด้านจีนศึกษา ในประเด็นที่มีความสนใจและห่วงใยร่วมกัน ท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศและภูมิภาคที่มีความซับซ้อนและผันผวน เพื่อร่วมกันสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของไทยและจีน ส่งเสริมความร่วมมือไทย - จีน ในด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการศึกษาวิจัย และบรรลุผลสำเร็จตามวิสัยทัศน์ในการสร้างประชาคม ที่มีอนาคต ร่วมกันระหว่างจีนและไทย ซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายยังมีกิจกรรมเสวนา MACT Talk : Towards a Shared Future เสริมสร้างสายสัมพันธ์ครอบครัวไทย-จีนเพื่อชุมชนยั่งยืน ซึ่งมีหัวข้อดังนี้ 1.) หัวข้อ "ประสบการณ์ความร่วมมือทางวิชาการไทยจีนแบบมีอนาคต" โดย นางสาวณัฐธิดา เย็นบำรุง นักวิจัยสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ และ 2.) หัวข้อ "ผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นของไทย ในเวทีจีน" โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เขียนข่าว : นางสาวธนิดา วิมลเศรษฐ
ถ่ายภาพ : นางสาวอชิรญา รุจิระกุล
วิดีโอ : นายจรัส เล็กเกาะทวด
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3729
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313