เมื่อวันที่ 17 พ.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดการประชุม “โครงการสำรวจเส้นขอบฟ้าในอวกาศ (TLC: Space Experiment Horizon)” เพื่อรายงานและแถลงความก้าวหน้าของโครงการศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ (Thailand Liquid Crystals in Space (TLC)) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และมีการประสานความร่วมมือด้านงานวิจัยในอวกาศระหว่างคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ในสังกัดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และผู้เชี่ยวชาญจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (องค์การนาซา, NASA) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ความสำเร็จในการดำเนินงานของโครงการความร่วมมือทางวิชาการและส่งเสริมการทำงานวิจัยของบุคลากรร่วมกับองค์กรชั้นนำระดับโลก โดยมี ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้กล่าวรายงานการดำเนินการโครงการฯ รศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม หัวหน้าโครงการเป็นผู้กล่าวรายงานความก้าวหน้าของโครงการฯ ร่วมกับผู้แทนจาก NASA และมี ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ศ.ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เข้าร่วม ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 7 โรงแรม เดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ในวันนี้เรามารวมตัวกันเพื่อสร้างหมุดหมายสำคัญในการเดินทางของวิทยาศาสตร์อวกาศและการวิจัยเพื่อประเทศไทย และร่วมหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ (Thailand Liquid Crystals in Space (TLC)) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการสำรวจอวกาศและวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ในขณะที่เรากำลังเตรียมพร้อมสำหรับการปล่อยอุปกรณ์เพย์โหลด (payload) สำหรับการศึกษาผลึกเหลวบนสถานีอวกาศนานาชาติอวกาศในปี 2568 โดยโครงการได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ซึ่งเป็นผลจากความทุ่มเท และความเชี่ยวชาญของนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร รวมถึงไปถึงบุคลากรผู้เกี่ยวข้องทุกคน
"การทดลองผลึกเหลว (Liquid Crystal) ในอวกาศของโครงการนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีสูงกว่าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจนำไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น จอภาพ LCD และอุปกรณ์ชีวการแพทย์ ซึ่งสามารถช่วยเสริมประสิทธิภาพในหลากหลายอุตสาหกรรม นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังเป็นแรงบันดาลใจสำหรับเยาวชนในประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีส่วนร่วมในโครงการสำคัญเพื่อการพัฒนาด้านอวกาศของมวลมนุษยชาติ” น.ส.ศุภมาส กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.