เมื่อวันที่ 27 ม.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วย รมว.อว. และ ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ให้การต้อนรับ นายเปาโล ดีโอนีซี (H.E. Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐอิตาลี ประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือเรื่องความร่วมมือในการร่วมกันพัฒนาประเทศไทยและประเทศอิตาลีอย่างรอบด้าน ณ ห้องรับรองพระจอมเกล้า ชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (โยธี)
ทั้งนี้ รมว.อว.ได้กล่าวต้อนรับและแสดงความยินดีต่อสาธารณรัฐอิตาลีที่ได้รับการคัดเลือกอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมาธิการยุโรป ให้เป็นประเทศแรก ๆ ในสหภาพยุโรปที่มีศักยภาพในการผลิตนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์จากโครงการ IT4LIA AI Factory
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า โครงการ IT4LIA AI Factory สะท้อนถึงความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมของสาธารณรัฐอิตาลีในเวทีระดับโลก พร้อมทั้งกล่าวถึงการเดินทางเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี Inaugural Ministerial Meeting of the IAEA World Fusion Energy Group ของกลุ่ม World Fusion Energy Group (WFEG) เครือข่ายด้านพลังงานฟิวชันระดับนานาชาติ ณ สาธารณรัฐอิตาลี ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองประเทศมีความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหลากหลายสาขา เช่น ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศในด้านการพัฒนาโปรแกรมข้อมูลจากดาวเทียม เพื่อใช้ในการจัดการปัญหาอุทกภัย นอกจากนี้ยังมีการดำเนินโครงการวิจัยร่วมระหว่างนาโนเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับมหาวิทยาลัยในอิตาลี เกี่ยวกับการพัฒนา microsensor ในการใช้ประโยชน์ด้านความมั่นคงด้านอาหาร และโครงการแลกเปลี่ยนนักวิจัยภายใต้งานวิจัยชื่อ SusWater ซึ่งเป็นการพัฒนาเครื่องมือบำบัดน้ำที่ปนเปื้อนมลพิษให้สามารถนำกลับมาใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างปลอดภัย ระหว่างกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) และ University of Torino (UNITO), San Biagio-Agriculture Society (AASB) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
นางสาวศุภมาส เน้นย้ำว่า การสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่มั่นคงระหว่างประเทศไทยและอิตาลี จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้มีความแข็งแกร่งเพื่อมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาสำคัญระดับโลก
ด้าน นายเปาโล ดีโอนีซี กล่าวว่า ประเทศไทยและอิตาลีควรมีความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ 1) การทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในระดับกระทรวง เพื่อเป็นกรอบในการขยายความร่วมมือระหว่างสองประเทศ และ 2) การแต่งตั้งคณะทำงาน (working group) เพื่อกำหนดสาขาความร่วมมือ และจัดทำแผนงานการพัฒนางานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ตลอดจนการจัดสรรทุนในสาขาที่ไทยมีต้องการให้แก่เยาวชนไทยในการศึกษาต่อ ณ ประเทศอิตาลี
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.