เมื่อวันที่ 30 มี.ค.68 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานเสวนา “วิจัยมีคำตอบ ลดตระหนก สร้างตระหนัก สู่ทางรอดภัยแผ่นดินไหว” ซึ่งกระทรวง อว. โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH : Earthquake Research Center of Thailand ) จัดขึ้น โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. ผศ.ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา ธรณีสัณฐานและแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชยัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เข้าร่วม ที่ศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
น.ส.ศุภมาส กล่าวในการเปิดเสวนา ว่า ขณะนี้ ตนได้สั่งการให้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือด้านการตรวจสอบอาคารและการแพทย์” หรือ ศปก.อว. เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดย ศปก.อว.จะทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม โครงสร้างอาคาร และการแพทย์ ที่มีความพร้อมในการให้บริการ ตรวจสอบ ปรึกษาแนะนำ โครงสร้างอาคาร และความปลอดภัยในอาคาร รวมถึงการให้บริการและให้คำปรึกษาทางการแพทย์ ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาของเรายินดีเข้ามาสนับสนุนในสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและปลอดภัย ซึ่งขณะนี้มีสถาบันอุดมศึกษาเข้ามาร่วมปฏิบัติการ ประกอบด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยบูรพา และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง และจะมีอีกหลายสถาบันเข้ามาร่วมรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการประเมินความปลอดภัยของอาคารที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงจัดทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัย
“สำหรับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อศูนย์ประสานงานช่วยเหลือด้านการตรวจสอบอาคารและการแพทย์” สามารถส่งข้อความแจ้งความประสงค์มาได้ที่ สำนักงานปลัดกระทรวง อว.ผ่านทาง Call Center 1313 หรือช่องแชท (Messenger) เฟซบุ๊กกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ https://www.facebook.com/MHESIThailand โดยระบุรายละเอียดของอาคาร พื้นที่ และสิ่งที่ต้องการให้ช่วยเหลือ และทางสำนักงานปลัดกระทรวง อว. จะประสานไปยังมหาวิทยาลัยในพื้นที่เข้าให้การช่วยเหลือโดยด่วน” น.ส.ศุภมาส กล่าวและว่า
นอกจากนี้ ยังได้ระดมสรรพกำลังและเทคโนโลยีเข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การนำทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มจพ. ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เข้าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่บริเวณอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่ถล่มลงมา การใช้ Traffy Fondue ซึ่งพัฒนาโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยกรุงเทพมหานครได้นำระบบ “Traffy Fondue” มาใช้ในการรับแจ้งข้อมูลจากประชาชนเกี่ยวกับรอยร้าวในอาคารต่าง ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้ มีประชาชนแจ้งข้อมูลเข้ามาแล้ว 9,743 เรื่อง และกรุงเทพมหานครร่วมกับทีมวิศวกรอาสาได้ดำเนินการประเมินแล้ว 5,779 เรื่อง ขณะที่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) ได้สนับสนุนภาพถ่ายจากดาวเทียม THEOS-2 เพื่อเปรียบเทียบกับภาพก่อนเกิดเหตุ เพื่อประเมินความเสียหายในวงกว้าง และศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ของ วช. ยังร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองในการออกกฎกระทรวงและมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหว และจัดทำคู่มือสำรวจความเสียหายขั้นต้น ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา สำหรับระบบตรวจวัดแผ่นดินไหว รวมถึงร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในการให้ความรู้และบริการวิชาการแก่ประชาชน ตลอดจนส่งทีมวิศวกรอาสา ร่วมตรวจสอบอาคารต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน
เผยแพร่ข่าว : นางสาวเยาวลักษณ์ ทับช้างโท
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.