เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ นางสาวศุภมาศ อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. และ นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ร่วมงานแถลงข่าวโครงการ SPACE-F หนุนนวัตกรรมฟู้ดเทคและสตาร์ทอัพ โดยมี ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพมหานคร
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า หนึ่งในเป้าหมายของกระทรวง อว. คือการมุ่งเน้นส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจฐานคุณค่า ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกในปี 2566 กว่า 1.5 ล้านล้านบาท มีสถานประกอบการกว่า 1.36 แสนราย และก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 9.73 แสนตำแหน่ง
“โครงการ SPACE-F จึงเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของกระทรวง อว. ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพ ด้านเทคโนโลยีอาหาร ให้สามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เรียกได้ว่า “ ชาตินวัตกรรม” และสามารถก้าวสู่อันดับที่ 30 ของดัชนีนวัตกรรมโลก ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ต่อไป” รมว.อว. กล่าว
ดร.กริชผกา กล่าวว่า NIA มีเป้าหมายในการยกระดับระบบนวัตกรรมของประเทศ โดยอุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ โดยผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศสตาร์ทอัพ (Global Startup Ecosystem Index) โดย StartupBlink พบว่า ระบบนิเวศสตาร์ทอัพของประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก ปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 52 ของโลก อันดับที่ 11 ของเอเชียแปซิฟิก และอันดับที่ 4 ของอาเซียน
“โครงการ SPACE-F จะมีส่วนช่วยส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการที่เปลี่ยนด้วยนวัตกรรม มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับเทรนด์ใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรม สามารถเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในระดับสากลได้” ผู้อำนวยการ NIA กล่าว
ด้าน ศ.นพ.บรรจง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีความพร้อมในด้านการศึกษาเชิงวิชาการ องค์ความรู้ สิ่งอำนวยความสะดวกในด้านอุปกรณ์และเครื่องมือทางงานวิจัยรวมถึงผู้เชี่ยวชาญในด้านสาขาวิชาต่าง ๆ จึงมีความพร้อมเพื่อรองรับและช่วยส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาของผู้ประกอบการด้านอาหาร/สตาร์ทอัพ ในโครงการ SPACE-F ที่มุ่งเน้นสู่การพัฒนาประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารและนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตของเอเชีย
โครงการ SPACE-F เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำระดับโลก บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกโครงการแรกของประเทศไทย มุ่งเน้นให้สตาร์ทอัพในธุรกิจเทคโนโลยีอาหารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม รองรับกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตที่ต้องเผชิญในอุตสาหกรรม โดยสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมจะได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเครือข่ายและแหล่งเงินทุนเพื่อการ เติบโตของธุรกิจต่อไป
ทั้งนี้ โครงการ SPACE-F ได้เปิดรับสมัครสตาร์ทอัพ รุ่นที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.space-f.co หรือ Facebook : SPACE-F
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นายสกล นุ่นงาม
วิดีโอ : นางสาวอินทิรา บัวลอย
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.