สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชวนชม “ดาวเคียงเดือน” และ “ดาวเคราะห์ชุมนุม” วันที่ 18 - 20 มี.ค. 63 ช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศหากท้องฟ้าใสเคลียร์
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผย ช่วงเช้ามืดวันที่ 18 - 20 มีนาคม 2563 จะเกิดปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ ได้แก่ “ดาวเคียงเดือน” และ “ดาวเคราะห์ชุมนุม” เริ่มวันที่ 18 มีนาคม 2563 ดาวอังคารเคียงดวงจันทร์เสี้ยว ข้างแรม 10 ค่ำ ห่างประมาณ 5 องศา และดาวอังคารเคียงดาวพฤหัสบดี ห่างประมาณ 1.5 องศา จากนั้นในวันที่ 19 มีนาคม 2563 ดวงจันทร์ข้างแรม 11 ค่ำ จะเคลื่อนลงมาเคียงดาวเสาร์ ห่างเพียง 2.6 องศา ในขณะที่ดาวอังคารจะเคลื่อนเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีมากขึ้น และจะเข้าใกล้กันที่สุดในวันที่ 20 มีนาคม 2563 ระยะห่างเพียง 0.8 องศา ในทางดาราศาสตร์ เรียกว่า “ดาวเคราะห์ชุมนุม” หมายถึง ดาวเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไปปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าที่ระยะห่างเชิงมุมไม่เกิน 5 องศา ในวันดังกล่าวหากมองด้วยตาจะเห็นดาวทั้งสองห่างกันประมาณหนึ่งนิ้วก้อยเท่านั้น (การวัดระยะเชิงมุมท้องฟ้า ใช้มือเหยียดสุดแขนขึ้นบนฟ้า ระยะ 1 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วก้อย)
ปรากฏการณ์ “ดาวเคียงเดือน” และ “ดาวเคราะห์ชุมนุม” ถือเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์หนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดวงจันทร์และดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งบนท้องฟ้าไปเรื่อย ๆ ตามแนวสุริยะวิถี ดังนั้น การที่ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกันจึงถือเป็นเรื่องปกติ นายศุภฤกษ์กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.