กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ฝ่ายโปรแกรมบริหารผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเสริมอาหาร จับมือร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสัมมนาพร้อมสรุปผลความสำเร็จโครงการยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัยและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (QSE) ณ ห้องประชุมสุคนธ์ พูนพัฒน์ ชั้น 5 อาคารวิจัยประดิษฐ์ หุตางกูร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563
โครงการ QSE (คิวซี) เป็นคำที่ย่อมาจาก Quality, Safety and Efficacy หรือ คุณภาพ ความปลอดภัยและประสิทธิผล ซึ่งโครงการนี้มุ่งหวังให้ผู้ประกอบการ SMEs มีศักยภาพในการแข่งขันด้วยการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์และช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์คุณภาพของไทย ตามแนวคิด Make Every Live Better โดยในปีพ.ศ. 2563 มีผู้ประกอบการจำนวนทั้งสิ้น 14 รายนำผลิตภัณฑ์เข้าร่วมทดสอบและปรับปรุงสูตรตำรับให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งรับคำปรึกษาในการจัดทำเอกสาร PIF ด้วย
ผศ.ดร.ภก.วีรวัฒน์ ตีรณะชัยดีกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ปัจจุบันผู้ประกอบการด้านเครื่องสำอางต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 (พรบ. เครื่องสำอาง 2558) และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล โดยสำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย คณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข โดยในปัจจุบันมีการกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องสำอาง (Product Information File, PIF) ให้พร้อมสำหรับการตรวจสอบเมื่อมีการร้องขอจากเจ้าพนักงานที่ได้รับมอบหมายตรวจสอบได้ ซึ่งเอกสารดังกล่าวประกอบไปด้วยข้อมูลของวัตถุดิบ ข้อมูลของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ โดยการจัดทำเอกสารดังกล่าวเป็นหนึ่งในการเพิ่มมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภค และเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางก่อนออกสู่ตลาดเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการทดสอบคุณภาพ ความปลอดภัยและประสิทธิผล โดยโครงการ QSE เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผล ของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผู้ประกอบที่เข้าร่วมโครงการได้พัฒนาขึ้น โดยโครงการนี้มีประโยชน์กับผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการทดสอบคุณภาพ ความปลอดภัยและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการซึ่งการทดสอบดังกล่าวต้องอาศัยเครื่องมือที่มีราคาสูง ทีมผู้เชี่ยวชาญ และงบประมาณในการดำเนินการที่สูง ดังนั้นนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการที่ทางทีเซลส์ (TCELS) ให้การสนับสนุนในโครงการดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำผลิตภัณฑ์มาทดสอบคุณภาพ ความปลอดภัยและประสิทธิผลว่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ผลสำเร็จที่ได้รับจากโครงการดังกล่าว คือ ผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการไทยได้รับโอกาสในการทดสอบคุณภาพ ความปลอดภัยและประสิทธิผล โดยหากผลิตภัณฑ์ยังไม่ผ่านเกณฑ์จะได้รับคำปรึกษาและการพัฒนาปรับปรุงสูตรจนได้มาตรฐาน รวมทั้งได้รับการทดสอบการระคายเคืองในห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยพร้อมด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ”
“สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และการจัดจำหน่ายในท้องตลาด คือ สินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาดต้องมีคุณภาพ ความปลอดภัยและมีประสิทธิผลตามคำกล่าวอ้าง” ผศ.ดร.ภก.วีรวัฒน์ กล่าวสรุปปิดท้าย
ผลิตภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการจากบริษัท ไวต้า วีว่า / ทีพี เฮลท์ แอนด์ บิวตี้ โปรดักส์ / ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสรียา / บอดี้เฟส อินเตอร์เนชั่นแนล / ไม่จำกัดความสุข / เอสทีเอส แนชเซอรัลโปรดักส์ / วุฒิศักดิ์ เอสเธติกแคร์ / อินโนเวทีฟ ฟาร์ม่า เฮิร์บส์ / สวนไผ่หลวง / นีโอคอสเมด / วริษา เฮิร์บ / วิสาหกิจชุมชนบ้านสุมนไพรแม่ทองคำ / ทรี คอสเมด / เวิร์ตคอสเมเทอร์ แล็ป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.