การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ส่งผลให้มีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งต้องเข้ารับการักษาที่โรงพยาบาล และในอนาคตอันใกล้อาจเกินศักยภาพที่โรงพยาบาลต่างๆ รับไหวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานมหาวิทยาลัยของประชาชน จึงได้ประชุมหารือและวางแนวทางร่วมกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และโรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์อีก 4 สถาบัน จัดตั้ง "โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์" ขึ้น ทำหน้าที่แบ่งเบาภาระจากโรงพยาบาลใหญ่ โดยจะรองรับผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นแล้ว แต่ยังต้องกักตัวดูอาการอีกอย่างน้อย 14 วัน เพื่อทำให้โรงพยาบาลใหญ่มีเตียงว่างสำหรับดูแลผู้ป่วยรายใหม่
โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ มีทั้งสิ้น 30 เตียง โดย มธ. ได้ปรับปรุงอาคารหอพัก DLUXX (หอพักเอเชี่ยนเกมส์) ให้มีความเหมาะสมกับภารกิจ มีโซนที่สามารถแยกออกจากส่วนอื่น โดยเริ่มดำเนินการรับผู้ป่วยรายแรกตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อความพร้อมอย่างถึงที่สุด ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศาสตราจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชและคณาจารย์ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน ณ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ (อาคาร DLUXX) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ธรรมศาสตร์เป็นผู้ริเริ่มทำโรงพยาบาลสนาม เพื่อตอบโจทย์รับมือกับ COVID-19 และเชื่อมั่นว่าความร่วมมือร่วมใจเช่นนี้ จะทำเราทุกคนในประเทศสามารถก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปพร้อมกันได้ ซึ่งในส่วนนี้เท่ากับว่าธรรมศาสตร์ได้มองเห็น 2-3 step ข้างหน้า ที่ในอนาคตนั้นถ้าเกิดเหตุการณ์วิกฤตมากขึ้นมา จะแยกคนไข้ผู้ป่วยหนัก กับผู้ป่วยเบาออกจากกันได้อย่างไร concept ของโรงพยาบาลสนามที่เป็นความคิดริเริ่มอย่างเป็นรูปธรรมของทางธรรมศาสตร์ เป็นความร่วมมือกับอีก 4 สถาบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, และคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล
ณ ตอนนี้คาดว่า อีก 1 - 2 อาทิตย์ข้างหน้า จะมีคนไข้เข้ามาเยอะมาก ถ้าสามารถแยกแยะคนไข้ที่มีอาการไม่หนักมากออกโดยใช้โรงพยาบาลสนามจะตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี อีกส่วนคือ Facility ของที่นี้มีความพร้อมมาก ในส่วนแรกแต่ละห้องมี Air Condition ที่แยกออกจากกัน ตรงนี้เป็น concept ที่เมื่อเปรียบเทียบกับโรงแรมแล้วสามารถตอบโจทย์ความปลอดภัยได้มากกว่า ในส่วนที่สอง คือ แต่ละคนจะถูกแยกออกมาใช้ชีวิตปกติ โดยที่มีการนำเรื่องของดิจิทัล-ไอที มาใช้เพื่อมอนิเตอร์ ดูว่าคนไข้แต่คนเป็นอย่างไร ซึ่งธรรมศาสตร์ได้ให้ความใส่ใจอย่างมาก นอกเหนือจากการให้ใช้ชีวิตแบบปกติแล้ว สภาพจิตใจของคนไข้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ได้จัดหมอที่เข้ามาให้คำปรึกษาในเรื่องของการใช้ชีวิตอยู่อย่างไรด้วย
ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า ณ วันนี้ มาเพื่อให้กำลังใจและชื่นชมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอย่างยิ่งคือโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ได้ริเริ่มในสิ่งนี้ อีกส่วนหนึ่งกำลังมองไปข้างหน้าว่า หากเหตุการณ์หนักขึ้นไปกว่านี้ จะรองรับคนไข้ COVID-19 ที่มีอยู่ทั่วประเทศได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ในกระทรวง อว. มีมหาวิทยาลัยเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาค อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งจะนำโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เป็นต้นแบบเพื่อขยายผลไปยังภูมิภาคได้อย่างไร นอกจากนนี้ยังมีราชภัฏโดยประมาณ 38 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งมีโอกาสที่จะแปลง Facility ต่างๆ ของราชภัฏให้กลายเป็นโรงพยาบาลสนามเช่นเดียวกับที่ธรรมศาสตร์
นอกจากนั้นได้เข้าเยี่ยมชมสถานที่ผลิต “หน้ากากผ้ากันน้ำ THAMMASK เพื่อใช้ในทางการแพทย์” คิดค้นโดยทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย และยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ที่ทำงานเพื่อประชาชนอีกด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.