วันนี้ (3 เมษายน 2563) ณ วิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมือง มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วย ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช, รศ.นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช คณะทำงาน และคณาจารย์ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจเยี่ยมการผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งเป็นผลงานการประดิษฐ์คิดค้นจากชิ้นส่วนที่มีอยู่ในประเทศ โดยอาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ในช่วงวิกฤต COVID-19 และจะดำเนินการส่งมอบอุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ
สำหรับวันนี้ได้ดำเนินการส่งมอบให้กับ 6 โรงพยาบาลด้วยกัน ได้แก่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ, โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า, โรงพยาบาลปทุมธานี, โรงพยาบาลนครปฐม, โรงพยาบาลภูเก็ต และโรงพยาบาลยะลา โดยที่แต่ละโรงพยาบาลนั้น จะได้รับหน้ากากอนามัยที่ทำจากซิลิโคน ชนิด N99 จำนวน 20 ชุด และหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศ (PAPR) จำนวน 2 ชุด
1. หน้ากากอนามัยที่ทำจากซิลิโคน ชนิด N99 (Silicone Mask Respirator N99) ผลิตจากซิลิโคนที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ พร้อมสายรัดกระชับใบหน้า นำมาประกอบให้เข้ากันกับชุดกรองเชื้อโรคในอากาศคุณภาพสูงที่ใช้กับเครื่องช่วยหายใจหรือเครื่องดมยาสลบ ที่มีคุณสมบัติในการกรองเชื้อแบคทีเรียและไวรัสมากกว่าร้อยละ 99 สามารถใช้ทดแทนหน้ากากอนามัย N95 ที่ขาดแคลนในปัจจุบันได้
2. หน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศ หรือ Powered Air-Purifying Respirators (PAPR) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยดัดแปลงหน้ากากคลุมหน้าให้มีแรงดันบวกภายในหน้ากากไม่ต่ำกว่าที่มาตรฐานสากลกำหนด พร้อมกับติดตั้งพัดลมและชุดกรองอากาศคุณภาพสูง เพื่อป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ไม่สัมผัสเชื้อ ในกรณีที่ต้องทำงานในห้องที่มีผู้ป่วยโรค COVID-19 หรือโรคติดต่อทางเดินหายใจอยู่เป็นจำนวนมาก และสามารถใช้ในห้องผ่าตัดได้อีกด้วย
“นี่ถือเป็นตัวอย่างของนวัตกรรมการแพทย์จากความร่วมมือของสหสาขาวิชา โดยคนไทย เพื่อคนไทย เป็นการพลิกวิกฤต ให้เป็นโอกาส เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในความพยายามให้ความช่วยเหลือตามกำลังและความสามารถ ขอให้ทุกท่านมั่นใจว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะร่วมสนับสนุนความพยายามของทุกท่านในการแก้ไขปัญหาโรค COVID-19 เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” ดร.สุวิทย์ กล่าว
ด้าน นายกสภา ม.นวมินทราธิราช เผยว่า เป้าหมายการผลิตหมวกอัดอากาศความดันบวก (PAPR) ตั้งไว้ว่าจะจัดทำให้ได้จำนวน 200 ชุดภายในสองสัปดาห์แรกของเดือนเมษายนและจัดส่งให้โรงพยาบาลต่างๆให้ครบ 100 โรงพยาบาลก่อนช่วงสงกรานต์ ซึ่งได้ระดมนักศึกษาและบุคลากรของวิทยาลัยชุมชนเมือง ม.นวมินทราธิราช และอาจารย์ รวมทั้งนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์มาช่วยดำเนินการผลิตจนได้จำนวนมากขึ้น และในขณะนี้บริษัท PTTGC ในกลุ่ม ปตท. และพันธมิตรได้นำต้นแบบ PAPR ที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลผลิตขึ้น ไปขึ้นรูปและจะเร่งผลิตในระบบอุตสาหกรรมแล้ว คาดว่าในช่วงปลายเดือนเมษายน PAPR จำนวนมากจะถูกผลิตขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะสามารถแจกจ่ายให้แกโรงพยาบาลทั่วประเทศในระดับ 500-1,000 ชุดภายในสิ้นเดือนเมษายน 2563 อย่างแน่นอน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.