กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) แชร์ไอเดียผ่านการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาโดย สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา หน่วยงานภูมิภาคของ วว. ว่า เราจะมีผักสดๆ สะอาด ปลอดภัยกินได้ตลอด 3 เดือน เพียงเราใช้เวลาว่างพักจากเรื่องเครียดๆ จากสถานการณ์ปัจจุบันของไวรัสโควิด-19 มาเพาะปลูกผักนานาชนิดที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย อุดมด้วยเส้นใยอาหาร โดยการปลูกผักจากแนวคิดนี้มุ่งเน้นตามความเหมาะสมของบ้านหรือที่พักอาศัยของแต่ละท่าน ไม่ว่าจะเพาะไว้ในห้องครัว ปลูกในแปลงปลูก สำหรับผู้ที่มีพื้นที่น้อยปลูกในกระถาง วางไว้ข้างบ้าน ระเบียงห้อง หรือออกแบบพื้นที่ปลูกสวนครัวแนวตั้ง ก็สามารถปลูกได้ไม่ยาก เพียงเรารู้อายุเก็บเกี่ยวของพืช และมีแผนแบ่งพื้นที่ปลูกให้เหมาะสม ก็จะได้ผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องในครัวเรือน หรือหากท่านใดมีพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก อาจจะเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้เสริมต่อไป
ข้อแนะนำสำคัญในการปลูกให้มีผักกินตลอดระยะเวลา 3 เดือนก็คือ การเตรียมหรือเลือกซื้อวัสดุปลูก ดินปลูก ที่มีความร่วน โปร่ง ระบายน้ำดี และเลือกใส่ปุ๋ยให้ธาตุอาหาร เพื่อการเจริญเติบโตที่เหมาะสมต่อช่วงอายุของพืช รวมถึงการให้น้ำ ควรเลือกใช้กระถางที่เหมาะสม และการได้รับแสงของพืชก็ต้องเหมาะสมด้วย เนื่องจากหากอายุผักมากขึ้นความต้องการน้ำก็มากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้เมื่อปลูกผักไประยะหนึ่งหากพบว่าวัสดุปลูกในกระถางยุบตัวลง ให้ใส่ดินผสมลงไปด้านบนเพิ่ม พืชผักของเราก็จะเจริญเติมโตให้ผลผลิตต่อไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุการให้ผลผลิตของผักแต่ละชนิดด้วย
ไอเดียที่ วว. นำมาแนะนำถ่ายทอดในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยให้ท่านมีงานอดิเรก ช่วยผ่อนคลายจากภาวะตึงเครียดแล้ว ยังจะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระเศรษฐกิจในครัวเรือนได้ด้วย และเหนือสิ่งอื่นใดจะช่วยให้ท่านมีสุขภาพดีทางอ้อมจากการทานผักที่สด สะอาด ปลอดภัย อันจะส่งผลให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานที่ดีต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.