กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้านอนุมูลอิสระจากสารสกัดสมุนไพรไทย ระบุผลทดสอบผ่านมาตรฐานระดับสากล ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ระบุเป็นผลสำเร็จในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เข้าไปเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย เสริมแกร่งเศรษฐกิจประเทศยั่งยืน
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า จากความเชี่ยวชาญในการสกัดสารสำคัญจากสมุนไพรของ วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระจากสารสำคัญของสมุนไพรที่นำมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้น ทั้งนี้หากมีการใช้ผลิตภัณฑ์แพร่หลายทั้งภายในและต่างประเทศ จะเป็นช่องทางหนึ่งในการเพิ่มโอกาสการสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับเกษตรกรจากการปลูกสมุนไพรนำส่งโรงงานอุตสาหกรรม และจะส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจของประเทศเข้มแข็งในที่สุด อันเป็นผลจากการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปช่วยแก้ปัญหาและสร้างโอกาสให้กับห่วงโซ่ธุรกิจของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้านอนุมูลอิสระผลงานวิจัยพัฒนาของ วว. มีดังนี้
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้านอนุมูลอิสระชนิดเม็ดจากขมิ้นชัน หรือ “TISTRAMIN” ผลสำเร็จจากการดำเนิน “โครงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระจากขมิ้นชันอย่างครบวงจร” โดย วว. ศึกษาวิธีการสกัดและการตรวจควบคุมคุณภาพขององค์ประกอบหลักที่เป็นกลุ่มสารเคอร์คูมินอยด์ (curcuminoids) ในเหง้าขมิ้นชันสด พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสียหายต่อสุขภาพ เช่น การอักเสบของเซลล์และการทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ช่วยชะลอความเสื่อมชราหรือการแก่ของเซลล์และการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ผลิตภัณฑ์ผ่านกระบวนการทดสอบด้านพิษวิทยาเพื่อประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ทั้งในระยะเฉียบพลันและระยะกึ่งเรื้อรัง ตามเกณฑ์มาตรฐานการทดสอบที่ระบุใน OECD Guidelines for Testing of Chemicals (2001) ของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีการผลิตในรูปแบบยาเม็ด ที่มีราคาเครื่องจักรในการตอกเม็ดถูกกว่าเครื่องทำแคปซูล จึงมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อแคปซูล รวมทั้งใช้ระยะเวลา และแรงงานในการผลิตน้อยกว่า อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนาตามหลักการทางวิทยาศาสตร์อย่างครบวงจร
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปรับภูมิคุ้มกันจากพุงทะลาย หรือ “Scamulan” ผลสำเร็จจากการดำเนิน “โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากพืช ผัก ผลไม้ สมุนไพรไทย ที่มีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกัน” โดย วว. ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาและคัดเลือก สารสกัดพุงทะลายซึ่งให้ผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายได้ดีที่สุด และนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในรูปเม็ด มีสรรพคุณให้ฤทธิ์ในการปรับภูมิคุ้มกัน โดยสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายเทียบเท่ายา Levamisole และในขณะเดียวกันสามารถให้ผลต้านการอักเสบที่มีกลไกเกี่ยวเนื่องกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายได้ใกล้เคียงกับยา Dexamethazone วว. ได้ประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ โดยทำการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน (LD50) ความเป็นพิษกึ่งเรื้อรัง (OECD subchronic toxicity) ตลอดจนฤทธิ์การก่อกลายพันธุ์ของผลิตภัณฑ์ (Micronucleus assay) พบว่า ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยต่อการบริโภค
ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มฟังก์ชันนัลจากเห็ดพื้นเมืองอีสาน หรือ “รัสซูล่า (RUSSULA)” วิจัยและพัฒนาจากสารสกัดเห็ดน้ำแป้ง (Russula alboareolata) ซึ่งเป็นเห็ดพื้นเมืองอีสาน มีสารสำคัญ คือ 4,5-dicaffeoylquinic acid และมีสรรพคุณทางเภสัชวิทยา ดังนี้ 1.ส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด macrophage ในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมได้สูงกว่าสารเบต้ากลูแคน (Beta-glucan) 2 เท่า 2.ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง (โดยเฉพาะอนุมูลซุปเปอร์ออกไซด์) 3.มีความเป็นพิษและไวต่อการยับยั้งเซลล์มะเร็งปากมดลูก (HeLa cells) และ 4.สามารถชักนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งแบบ apoptosis โดยเฉพาะเซลล์มะเร็งปากมดลูก (HeLa) และเซลล์มะเร็งตับ (HepG2) ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ “รัสซูล่า (RUSSULA)” มีคุณสมบัติที่โดดเด่นเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันในท้องตลาด ดังนี้ 1.มีฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าอย่างน้อย 2 เท่า และ 2.มีปริมาณสารฟินอลิกรวม (total phenolic) สูงกว่า 2-3 เท่า
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลงานวิจัยและพัฒนา วว. ได้ที่ Call center วว. โทร.0 2577 9300 ในวันและเวลาราชการ E-mail : marketing_tistr@tistr.or.th
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.