ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำเสนอบริการเคลือบสิ่งทอและตกแต่งสำเร็จเส้นใยสมบัติพิเศษ จาก “โรงงานต้นแบบถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งทอนาโน” ชูจุดแข็งเทคโนโลยีนาโนกับการเคลือบ 5 สมบัติ ได้แก่ กลิ่นหอม ต้านยูวี ผ้านุ่มลื่น ยับยั้งแบคทีเรีย และสะท้อนน้ำ ในขั้นตอนเดียว ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนลูกค้าเป็น 2 เท่าในปี 2563 รับความต้องการสิ่งทอสมบัติพิเศษในตลาดใหม่
ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากความต้องการสนับสนุนและยกระดับสิ่งทอพื้นเมืองในท้องถิ่นของไทยให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทำให้เกิด “โรงงานต้นแบบถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งทอนาโน” ภายใต้การดำเนินงานของนาโนเทค สวทช. ที่เปิดให้บริการด้านการพัฒนาและเคลือบสิ่งทอให้มีคุณสมบัติพิเศษด้วยนาโนเทคโนโลยี โดยใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น นาโนเทคโนโลยี มาพัฒนาสูตรน้ำยาเคลือบและกระบวนการตกแต่งสำเร็จเส้นใยและสิ่งทอสมบัติพิเศษ 5 สมบัติ ได้แก่
1. การตกแต่งสำเร็จเพื่อให้มีกลิ่นหอม (Perfume Finishes) โดยการตกแต่งกลิ่นผ้าด้วยแคปซูลกลิ่นหอมซึ่งจะช่วยเพิ่มสมบัติพิเศษให้กับผ้า เนื่องจากแคปซูลที่บรรจุกลิ่นจะแตกออกเมื่อได้รับแสง หรือการสัมผัส ทำให้เทคโนโลยีการตกแต่งกลิ่นหอมลงบนผ้าแพร่หลายขึ้น ซึ่งปัจจุบันสามารถบรรจุกลิ่นต่าง ๆ ลงไปภายในแคปซูลตามที่ต้องการได้ เช่น ตะไคร้ ลาเวนเดอร์ มะลิ และกุหลาบ เป็นต้น แต่ละกลิ่นสามารถนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันได้ เช่น ชุดนักเรียนกันยุงกลิ่นตะไคร้ เสื้อที่มีกลิ่นกุหลาบในวันวาเลนไทน์ เสื้อหม้อฮ่อมกลิ่นมะลิในวันสงกรานต์ หรือพรมเช็ดเท้ากลิ่นต่าง ๆ เป็นต้น
2. การตกแต่งสำเร็จต่อต้านรังสียูวี (Anti-UV Finishes) มีจุดเด่นที่สำคัญ คือ สามารถยืดอายุการใช้งานของผ้าได้มากขึ้น ช่วยให้สีของผ้ามีความคงทนต่อแสงแดด ทำให้สีไม่ซีดจาง สดใหม่อยู่เสมอ ดังนั้น จะเหมาะกับผลิตภัณฑ์กลางแจ้ง ได้แก่ ร่มที่ใช้ในการประดับตกแต่งด้านนอกโรงแรมหรือสถานที่ต่าง ๆ โซฟากลางแจ้ง ผ้าม่านที่ถูกแสงแดดบ่อย ๆ เป็นต้น
3. การตกแต่งสำเร็จให้ผ้านุ่ม (Softening Fabric) ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเส้นใยทุกประเภท การตกแต่งให้ผ้ามีคุณสมบัตินุ่มลื่น นอกจากจะทำให้ผ้ามีคุณสมบัติสวมใส่สบายแล้ว ยังทำให้ผ้ามีเนื้อนุ่มมากขึ้น และช่วยลดการยับ ทำให้ผ้ามีคุณสมบัติคืนตัวได้ดีอีกด้วย และยังต่อยอดใช้ในผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย เช่น เสื้อผ้า ชุดเครื่องนอน เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความนุ่มสบายเมื่อสัมผัสเนื้อผ้าในระหว่างการใช้งานทั้งสิ้น
4. การตกแต่งสำเร็จยับยั้งแบคทีเรีย (Anti-bacterial Finishes) ซึ่งเป็นการตกแต่งสิ่งทอที่กำลังได้รับความนิยมมากในขณะนี้ เทคโนโลยีการตกแต่งสำเร็จให้ผ้ามีสมบัติยับยั้งแบคทีเรียนั้นจะใช้กลไกลของสารที่มีความสามารถในการเร่งปฏิกิริยาด้วยแสง (Photocatalytic) สามารถนำไปใช้ย่อยสลายอนุภาคสารอินทรีย์ที่มาเกาะติดเสื้อผ้าหรือพื้นผิววัสดุต่าง ๆ และยังยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบ อันเป็นสาเหตุของกลิ่นไม่พึงประสงค์ และโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เนื่องจากการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย โดยนิยมนำมาประยุกต์ใช้ในงานผ้าด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น ชุดพยาบาลต้านเชื้อแบคทีเรีย ถุงเท้าลดกลิ่นอับและเชื้อโรค ชุดกีฬาต้านเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น
5. การตกแต่งสำเร็จสะท้อนน้ำ (Water Repellent Finishes) เป็นการอาศัยหลักการเรื่องแรงตึงผิวของวัสดุ โดยถ้าแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลน้ำกับโมเลกุลของผิววัสดุมีมากกว่าแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลของน้ำเอง น้ำจะกระจายตัวทั่วบนผิววัสดุนั้น ในทางตรงกันข้ามถ้าแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลน้ำกับโมเลกุลของผิววัสดุ มีน้อยกว่าแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลของน้ำ น้ำจะไม่กระจายตัวหรือซึมลงบนผิววัสดุ ดังนั้น การตกแต่งผ้าให้มีสมบัติสะท้อนน้ำเป็นการลดค่าแรงตึงผิวของวัสดุหรือผ้า ซึ่งจะทำให้ผ้ามีสมบัติสะท้อนน้ำ ทั้งนี้ ผ้าหรือสิ่งทอที่มีสมบัติสะท้อนน้ำจะตอบโจทย์ความต้องการแก้ปัญหาเรื่องของการดูแลรักษาที่ยากและเปื้อนง่ายได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการตกแต่งให้ผ้ามีสมบัติสะท้อนน้ำจะช่วยลดการเปื้อนของสิ่งสกปรกในรูปของเหลวได้ โดยสามารถประยุกต์ใช้ในงานต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง เช่น โซฟาผ้าสะท้อนน้ำ ผ้ากันเปื้อนสะท้อนน้ำ ที่รองแก้ว ร่มกันน้ำ กระเป๋าผ้ากันน้ำ เป็นต้น
“จุดแข็งของโรงงานต้นแบบถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งทอนาโน ภายใต้การดำเนินงานของนาโนเทค สวทช. คือ ความสามารถในการเคลือบสมบัติพิเศษข้างต้นทั้ง 5 สมบัติได้ในขั้นตอนเดียว ประยุกต์ใช้ได้ทั้งการเคลือบบนเส้นใย ผ้าผืน และผ้าชิ้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้บริการ ในขณะที่ผู้ให้บริการอื่น ๆ ทำได้เพียงครั้งละ 1 - 2 สมบัติเท่านั้น ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักของงานบริการเคลือบสิ่งทอและตกแต่งสำเร็จเส้นใยสมบัติพิเศษนี้ คือผู้ประกอบการผ้าพื้นเมือง และ SME เนื่องจากไม่ต้องลงทุนเครื่องมือในการเคลือบสิ่งทอเอง สามารถเข้ามาใช้บริการได้ทันที และอีกกลุ่มคือ ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สามารถมาใช้บริการโรงงานต้นแบบเพื่อทดสอบไลน์ผลิต หรือศึกษาความเป็นไปได้ทางการตลาดของผลิตภัณฑ์สิ่งทอใหม่ ๆ ก่อนเริ่มผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าในปี 2563 จะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปีที่ผ่านมา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการสิ่งทอสมบัติพิเศษ เช่น สะท้อนน้ำ ต้านแบคทีเรีย ในการต่อยอดพัฒนาสิ่งทอใหม่ ๆ และต่อยอดทางการตลาด ด้วยความพร้อมทั้งในด้านเครื่องจักร เทคโนโลยีการเคลือบ สารเคลือบสมบัติพิเศษ นักวิจัย วิศวกร รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญ จะสามารถรองรับความต้องการที่หลากหลาย โดยเฉพาะในปัจจุบันซึ่งมีสิ่งทอเฉพาะทางที่ต้องการฟังก์ชั่นพิเศษเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดใหม่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ กล่าว
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรม โรงงานต้นแบบถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งทอนาโนเทคโนโลยี (อวท.) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. โทร. 0 2117 6500 ต่อ 6610 หรืออีเมล: bitt-ind@nanotec.or.th
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.