(24 พ.ค.62 /วว.เทคโนธานี) รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีมอบประกาศเกียรติคุณแก่ผู้มีอุปการคุณ/พนักงานที่ทำคุณประโยชน์ต่อสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) รวมทั้งพนักงานที่ปฏิบัติงานครบ 20 และ 30 ปี พร้อมทั้งมอบรางวัลประเภทต่าง ๆ ตลอดจนจัดพิธีทำบุญเลี้ยงพระเพล เพื่อเป็นสิริมงคล โอกาสนี้ นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงฯ ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ในการนี้ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. และคณะผู้บริหารระดับสูง พร้อมด้วยพนักงาน วว. ร่วมต้อนรับ พร้อมกล่าวย้ำก้าวต่อไปในปีที่ 57 วว. มุ่งเน้นเป็นองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) แก้ปัญหาเบ็ดเสร็จครบวงจร หรือ STI total service solution สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและสามารถนำไปใช้งานได้จริงทั้งในเชิงสังคมและเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปอว. กล่าวแสดงความยินดีเนื่องในโอกาส 56 ปี วว. โดย วว.เป็นองค์กรที่มีความเป็นปึกแผ่น มีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง จะเห็นจากการมีผลงานสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคม วว.มีภารกิจในด้านวิจัย เพื่อช่วยไปพื้นที่เศรษฐกิจฐานรากทั่วประเทศ แม้กระทรวงฯ จะมีภารกิจเปลี่ยนแปลงไปกว้างขวางมากขึ้น แต่กระทรวงฯ ยังคงบทบาทสำคัญ คือ สร้างคนและนำนวัตกรรมผลงานวิจัยไปช่วยประเทศมากขึ้นซึ่ง วว.จะช่วยสนับสนุนบทบาทด้านที่สองได้เป็นอย่างดี ในอนาคต วว.จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในด้านสร้างคน วว. โดยข้อได้เปรียบของ วว. คือ ทำงานกับเอกชนอย่างใกล้ชิด งานบริการมีจุดเด่นคือเห็นปัญหาความยากจนเหลื่อมล้ำตากพื้นที่ิ วว.จะได้เปรียบในส่วนนี้ที่ได้ลงดำเนินงานในพื้นที่จริง แม้ว่าจะมีรัฐบาลชุดใดเข้ามาบริหาร วว. ก็มีความพร้อมที่เข้มแข็งในการรองรับการดำเนินงาน
ผู้ว่าการ วว. กล่าวย้ำถึงแนวทางการดำเนินงานของ วว. ในปีที่ 57 ว่าในก้าวต่อไป วว. ได้ปรับบทบาทขององค์กรให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและบริบทของสังคม มุ่งเน้นเป็นองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) แก้ปัญหาเบ็ดเสร็จครบวงจร หรือ STI total service solution
วว. มุ่งบริการด้านการวิจัยและพัฒนาแก่ผู้ประกอบการ ทั้งในระดับ SMEs ผู้ผลิตสินค้า OTOP วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนเกษตรกร ที่มีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ต้องการเพิ่มมูลค่า หรือมีความต้องการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีรูปแบบและขั้นตอนการดำเนินงานที่ครอบคลุมตั้งแต่ การรับฟังแนวความคิดของผู้ประกอบการ (idea) การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและแก้ไขปัญหา (prototype & solution) การบริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ การขยายขนาดการผลิตจากห้องทดลองสู่ระดับการผลิตจริง (scale up) การพัฒนาระบบบริหารจัดการการผลิตสินค้า (product & management system) ตลอดจนการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ (commercialization) ทั้งการส่งเสริมด้านการตลาดและเชื่อมโยงด้านการเงิน เป็นต้น โดยมี กลไกสำคัญในการขับเคลื่อน คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ อาทิ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม โรงงานนำร่องมาตรฐานสายการผลิตเครื่องดื่มและสายการผลิตผลไม้อบแห้ง (Food Innovation & Service Plant : FISP) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย วว. ศูนย์สาธิตการผลิตพลังงานทดแทนจากชีวมวลและขยะ ซึ่งตั้งอยู่ ณ สถานีวิจัยลำตะคอง จ.นครราชสีมา
นอกจากกลไกด้านโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ฯ ดังกล่าวแล้ว วว. ยังพัฒนาระบบการบริการ วิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ และรับรองคุณภาพที่ได้มาตรฐานสากล พร้อมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานงานบริการอุตสาหกรรมเทียบเท่าระดับสากล อาทิ ศูนย์ทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพ (Biodegradability Testing Laboratory) ซึ่งเป็นองค์กรแรกในอาเซียน ที่สามารถให้บริการทดสอบได้ โดยมีระบบการบริหารงานคุณภาพที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ISO/ IEC 17025, ISO 17088 (ที่สอดคล้องกับมาตรฐานอุตสาหกรรม มอก.17088/2555) โดยได้รับการขึ้นทะเบียนกับบริษัท Din Certco ประเทศเยอรมนี บริษัทรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพระดับโลก และ OECD 301
อีกทั้ง วว. ยังได้ยกระดับขีดความสามารถงานบริการ ทดสอบ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยา วัสดุทางการแพทย์/เครื่องมือแพทย์ โดยได้รับการรับรองรับรองมาตรฐานงานเลี้ยงและการใช้สัตว์ทดลองเพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ในระดับประเทศและระดับนานาชาติ (AAALAC International หรือ The Association for Assessment and Accreditation of Laboratory Animal Care International) นับเป็นหน่วยงานแรกในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเป็นหน่วยงานลำดับที่ 9 ของไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าว นอกจากนั้น วว. ยังมีโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการทดสอบด้านระบบขนส่งทางรางที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งสามารถให้บริการเพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูง พร้อมให้บริการแก่ผู้ประกอบการในภูมิภาคอาเซียน โดยในแต่ละปี วว. ให้บริการภาคอุตสาหกรรม มีจำนวนมากกว่า 150,000 รายการต่อปี และมีจำนวนลูกค้ามากกว่า 3,000 คน สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการในการส่งตัวอย่างไปทดสอบต่างประเทศได้มากกว่า 50%
“วว. เชื่อมั่นว่าการปรับบทบาทขององค์กร ผนวกกับจุดแข็งในการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม จะเป็นกลไกขับเคลื่อนให้ วว. มีบทบาทสำคัญสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน เคียงคู่ภาครัฐ ภาคเอกชน ในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศสู่ตลาดสากล” ผู้ว่าการ วว.กล่าวสรุปในตอนท้าย
อนึ่งภายในงานฯ เนื่องในโอกาสครบรอบการสถาปนา ครบรอบปีที่ 56 วว. ได้จัดพิธีมอบประกาศเกียรติคุณแก่ผู้มีอุปการคุณต่อ วว. ได้แก่ นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานบริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับโล่เกียรติคุณ (สีทอง) Mr.Justin Pau ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับโล่เกียรติคุณ (สีเงิน) และได้รับประกาศนียบัตรเกียรติคุณ จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1.นายอนุชา พันธุ์พิเชฐ ผู้จัดการโครงการ บริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด 2.นายพรศักดิ์ ตั้งรัตนสมบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอ็นพี ไซแอนติฟิค จำกัด 3. ผู้จัดการ การประปาส่วนภูมิภาค สาขาปากช่อง 4. นายภาคภูมิ เพิ่มมงคล กรรมการผู้จัดการบริษัท รีเสิร์ช เอ็กซ์ จำกัด
นอกจากนี้ยังได้มอบประกาศเกียรติคุณ ให้แก่ พนักงานที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ วว. ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ (สีเงิน) จำนวน 9 ราย และพนักงานที่ได้รับประกาศนียบัตรเกียรติคุณ จำนวน 5 ราย และพนักงานที่ปฏิบัติงานครบ 30 ปี ได้รับประกาศนียบัตรเกียรติคุณ และเข็มกลัดทองคำฝังเพชร จำนวน 6 ราย รวมทั้งพนักงานที่ปฏิบัติงานครบ 20 ปี ได้รับประกาศนียบัตรเกียรติคุณ และเข็มกลัดทองคำฝังเพชร จำนวน 10 ราย
เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวรุ่งทิพย์ คำพิทุม
ภาพข่าวโดย : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.