ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. เป็นองค์กรที่สามารถประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไปพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยมีบุคลากรที่เป็นมืออาชีพ และการบริหารจัดการที่ทันสมัย มีธรรมาภิบาล ภายใต้การกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการบริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สอดคล้องต่อนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมุ่งใช้ วทน. เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
วว. นำองค์ความรู้ วทน. ไปประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการ และพัฒนาในระดับชุมชนหรือท้องถิ่น และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับกระบวนการยกระดับมาตรฐานผลผลิตการเกษตรเพื่อการส่งออก และการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตการเกษตรที่สำคัญของจังหวัดหรือของภูมิภาคนั้น ๆ เพื่อสร้างโอกาสให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในการเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และช่วยลดความเสี่ยงให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในระยะแรกของการทำตลาด และยังไม่มีความพร้อมในการลงทุนด้านสถานที่ผลิตหรือโครงสร้างพื้นฐานด้วยตนเอง
“...วทน. แก้ปัญหาเบ็ดเสร็จครบวงจร หรือ STI for Total Solution เป็นยุทธศาสตร์ของ วว.ที่มุ่งดำเนินงานผ่านการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบ Shared service ครอบคลุม 7 จังหวัดในประเทศ ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี แพร่ ลำพูน น่าน ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา โดย วว. ได้พัฒนาเทคโนโลยี พร้อมให้บริการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยงานวิจัยและยกระดับการผลิตหรือทดลองผลิตเพื่อทดลองตลาด ก่อนยกระดับสู่เชิงพาณิชย์แก่ประชาชนหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ ทั้ง OTOP และ SMEs ตลอดจนเกษตรกร
ในการดำเนินงานภายใต้โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว วว. มุ่งให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนา เกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ต้องการเพิ่มมูลค่า หรือมีความต้องการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีรูปแบบและขั้นตอนการดำเนินงานที่ครอบคลุมตั้งแต่ การรับฟัง แนวความคิดของผู้ประกอบการ (idea) การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและแก้ไขปัญหา (prototype & solution) การบริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ การขยายขนาดการผลิตจากห้องทดลองสู่ระดับการผลิตจริง (scale up) การพัฒนาระบบบริหารจัดการการผลิตสินค้า (product & management system) ตลอดจนการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ (commercialization) ทั้งการส่งเสริมด้านการตลาดและเชื่อมโยงด้านการเงิน เป็นต้น ...” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
โครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบ Shared service ที่ วว. ดำเนินการและเปิดให้บริการ มีดังนี้
1. ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุสับปะรดเพื่อการส่งออก เป็นโรงงานต้นแบบในการผลิตสับปะรดผลสดเพื่อการส่งออก และโรงคัดบรรจุผลสดทันสมัยแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีเครื่องจักรและกระบวนการผลิตมาตรฐานครบวงจร ตั้งอยู่ที่ ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
2. ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุลำไยเพื่อการส่งออก เป็นโรงงานต้นแบบเพื่อยืดอายุลำไยโดยวิธีการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพื่อการส่งออก ตั้งอยู่ที่ ตำบลเหล่ายาว อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน
3. ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารแปรรูป ดำเนินงานรองรับผู้ประกอบการในการแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มจากสินค้าเกษตรในพื้นที่จังหวัดแพร่และจังหวัดใกล้เคียง ตั้งอยู่ที่ ตำบลแม่จั๊วะ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่
4. โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (Food Innovation & Service Plant : FISP) ดำเนินงานสายการผลิต การแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มเชิงอุตสาหกรรม ให้บริการลูกค้า SMEs และ OTOP ตั้งอยู่ที่ วว. เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
5. ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (Innovative Center for Production of Industrially used microorganisms : ICPIM) ดำเนินงานด้านสายการผลิตเชื้อจุลินทรีย์เชิงอุตสาหกรรม ตั้งอยู่ที่ วว. เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
6. โรงงานสกัดระดับชุมชนและระบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นโรงงานต้นแบบการสกัด และโรงงานผลิตเครื่องสำอางที่ได้มาตรฐาน และศูนย์อนุรักษ์พรรณพืช ตั้งอยู่ที่ ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
7. โรงงานบริการนวัตกรรมอาหารระยอง ดำเนินงานรองรับผู้ประกอบการในการแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มจากสินค้าเกษตรในพื้นที่ ตั้งอยู่ที่ ตำบลเนินพระ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง
8. โรงงานบริการนวัตกรรมอาหารสงขลา ดำเนินงานรองรับผู้ประกอบการในการแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มจากสินค้าเกษตรในพื้นที่ ตั้งอยู่ที่ ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.