(29 เมษายน 2563) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วย นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.), ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. และตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, บริษัท McKinsey & Company, สถาบันอนาคตไทยศึกษา ร่วมประชุมหารือความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็น “โลกเปลี่ยน คนปรับ” จะอยู่ในโลกหลังวิกฤตโควิด-19 อย่างเป็นปกติสุขได้อย่างไร ซึ่งเป็นการประชุมออนไลน์ ผ่านระบบ video conference ตามมาตรการ Social distancing ณ ห้องประชุม A ชั้น 18 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อาคารถนนศรีอยุธยา
ดร.สุวิทย์ (รมว.อว.) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตซ้ำซาก ทำให้โลกกำลังเรียกหากระบวนทัศน์การพัฒนาชุดใหม่ ประชาชนมีสมมติฐานภายใต้ฐานคิดที่ผิด ยังยึดติดกับหลักคิดที่ว่า “ตัวกูของกู” (Ego-Centric Mental Model) จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์กับมนุษย์ และ มนุษย์กับธรรมชาติ ดังนั้น กระบวนทัศน์ในการพัฒนาประเทศจำเป็นที่จะต้องถูกทบทวน ประเทศต้องมุ่งมั่นพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งแท้จริงแล้วเรื่องนี้มิได้เป็นสิ่งแปลกใหม่ของประเทศไทย แต่เนื่องจากภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้คนในประเทศเกิดความตื่นตัวมากขึ้น เร่งที่จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนที่เร็วมากยิ่งขึ้น ตามกลไก 7 ขยับ ปรับเปลี่ยนโลก ดังนี้
1. โมเดลตลาดเสรี (Free Market Model) ที่ใช้กลไกตลาดในการขับเคลื่อน แยกบทบาทระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคอย่างชัดเจน เปลี่ยนไปสู่ โมเดลร่วมรังสรรค์ (Co-Creative Model) การใช้พลังปัญญามนุษย์ในการขับเคลื่อน เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการ ผลิต และรังสรรค์นวัตกรรม
2. การผลิตและการบริโภค ที่มุ่งเน้นการแข่งขันให้กับตน (Competitive Mode of Production & Consumption) ใช้แพลตฟอร์มแบบปิด ซึ่งผู้เป็นเจ้าของดำเนินงานบนหลักของการผลิตและขาย แข่งกันผลิต แข่งกันบริโภค ซึ่งควรปรับเป็นการผลิตและการบริโภค ที่มุ่งเน้นการผนึกกำลังความร่วมมือ (Collaborative Mode of Production & Consumption) ใช้แพลตฟอร์มแบบเปิด ทุกกคนมีส่วนร่วม เกื้อกูล และแบ่งปัน
3. มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) เน้นการเพิ่มปริมาณการผลิต การบริโภค ให้ความสำคัญกับ การสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่แท้จริงแล้วควรมุ่งเน้นการพัฒนาที่สมดุล (Thriving in Balance) สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความอยู่ดีมีสุขในสังคม ควบคู่ไปกับความ ยั่งยืนของธรรมชาติ บนรากฐานของภูมิปัญญามนุษย์
4. สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ (People for Growth) ลดต้นทุนและมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพในตัวมนุษย์เป็นสำคัญ โดย สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของมนุษย์ (Growth for People) ใช้ปัญญามนุษย์ ยกระดับทักษะ เติมเต็มศักยภาพและการมีส่วนร่วม
5. ชีวิตที่ร่ำรวยทางวัตถุ (Economic Life) เต็มไปด้วยการเปรียบเทียบ การแข่งขัน แสวงหาความต้องการแบบไร้จุดหมาย ให้เปลี่ยนไปสู่ชีวิตที่ร่ำรวยความสุข (Balanced Life) สุขภาพกาย สุขภาพใจแข็งแรง ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างเป็นปกติสุข เป็นความรุ่มรวยบนความพอดี
6. เศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) เป็นเศรษฐกิจที่นำทรัพยากรมาผลิตสินค้า โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งหากำไร แต่การปรับเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จะช่วยอุดช่องว่างการผลิตแบบ เก่าด้วย นำสิ่งเหลือใช้ กลับมาหมุนเวียนทำประโยชน์ใหม่ มุ่งสู่ความยั่งยืน เน้นประสิทธิภาพการผลิต และประโยชน์สูงสุด
7. การตักตวงผลประโยชน์จากส่วนรวม (Exploitation of the Commons) เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น แสวงหาประโยชน์จากส่วนรวมมาเป็นส่วนตัว แต่ควรจะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม (Remedy of the Commons) ฟื้นฟู เยียวยา รักษาผลประโยชน์ส่วนรวมเพื่อคนรุ่นหลัง
ณ วันนี้ประเทศไทยถึงเวลาที่จะต้องทบทวน กำหนดและปรับเปลี่ยนระบบ “พิมพ์เขียวยุทธศาสตร์ประเทศไทย” ชุดใหม่ เพื่อกำกับ “วาระขับเคลื่อนการปฏิรูป” ให้สอดคล้องกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนไปหลังโควิด-19 ทั้งการปรับเปลี่ยนเป้าหมาย ตัวชี้วัดความสำเร็จต้องสมดุล สะท้อนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับความอยู่ดีมีสุขของสังคม รวมไปถึงตามภารกิจของกระทรวง อว. นั้น คือการสร้างคน พัฒนาสู่โลกในศตวรรษ 21 ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก อว. จำเป็นต้องพัฒนาและเตรียมคนให้พร้อมรับมือกับสภาวะของโลกหลังจากวิกฤตโควิด-19 ที่จะเกิดขึ้นต่อไป
อย่างไรก็ตาม วาระขับเคลื่อนประเทศไทยในโลกหลังโควิด-19 คือการใช้พลังปัญญาในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และวาระปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมถึงนวัตกรรมเชิงนโยบายชุดใหม่ ๆ ที่มีผลกระทบในวงกว้าง นอกจากนั้นการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ดำเนินงานในโลกหลังโควิด-19 คือ การผสานระหว่าง “ภูมิปัญญามหาชน” (Wisdom of the Crowd) กับ “จิตวิญญาณเพื่อส่วนรวม” (Common of the Mind) ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.