วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงฯ และคณะผู้บริหาร อว. ร่วมประชุมหารือกับ พลโท ธัญญา เกียรติสาร แม่ทัพภาคที่ 2 เรื่อง “การจัดทำแผนงานสร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจชุมชน แก้ปัญหาจัดการทรัพยากรท้องถิ่น” รองรับการว่างงานหลังวิกฤตโควิด - 19 โดยมี ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) เป็นแกนหลักขับเคลื่อนตามแนวทางจัดการน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หวังเพิ่มความมั่นคงทางน้ำในการทำเกษตร พร้อมสร้างอาชีพและทักษะให้กับคนในชุมชนและบัณฑิตจบใหม่ ณ ห้องบัญชาการและวิเคราะห์สถานการณ์ สสน.
ดร.สุวิทย์ (รมว.อว.) กล่าวว่า “โจทย์ที่มีความสำคัญในวันนี้หลังเหตุการณ์โควิด – 19 คือเรื่องของการสร้างงานและการพัฒนาชุมชนโดยการผนึกกำลังเป็นเรื่องเดียวกัน หน่วยงานภายในกระทรวง อว. กองทัพภาคที่ 2 และศูนย์ประสานงานตามโครงการพระราชดำริของกองทัพไทย จึงได้ร่วมกันจัดทำ “แผนงานสร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจชุมชน แก้ปัญหาจัดการทรัพยากรท้องถิ่น” โดยมอบให้ สสน. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนงานดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ อาหาร และการสร้างอาชีพ รองรับผลกระทบจากการว่างงานหลังวิกฤตโควิด - 19 รวมทั้งสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน โดยใช้แนวทางจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ที่ สสน. ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น และชุมชน มาอย่างต่อเนื่อง เกิดความสำเร็จใน 60 ชุมชนแกนนำ และขยายผลไปสู่ 1,659 หมู่บ้านทั่วประเทศแล้ว เป็นฐานดำเนินงานขยายผลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ภายใต้รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ หรือ “BCG Economy Model” ซึ่งเป็นการผนึก 3 เศรษฐกิจเข้าด้วยกัน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ
สำหรับแผนงานสร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจชุมชน แก้ปัญหาจัดการทรัพยากรท้องถิ่น สสน. มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการให้นักศึกษาหรือบัณฑิตในพื้นที่และมหาวิทยาลัยในเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อเพิ่มความมั่นคงน้ำ สำหรับทำการเกษตร ให้เกิดผลผลิตและรายได้ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น รวมทั้งช่วยสร้างอาชีพให้กับผู้ว่างงานและบัณฑิตจบใหม่ ผ่านกลไกการทำงานจากการเรียนรู้ การวางแผนงาน การบริหาร การลงมือทำและการพัฒนา ซึ่ง สสน. จะดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้แทนชุมชน เรื่องการจัดการน้ำชุมชนและจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการจัดทำแผนที่น้ำ ผังน้ำ วิเคราะห์สมดุลน้ำ และการวางแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนวิเคราะห์และสรุปแผนดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำร่วมกัน โดยมีชุมชนแกนนำของ สสน. และมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง”
“นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ สสน. ทำงานร่วมกับกองทัพภาคที่ 2 ในการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจชุมชน สร้างทักษะและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีนำไปสู่การจัดการทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพศูนย์บริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองทัพภาคที่ 2 ซึ่ง สสน. ได้สนับสนุนการดำเนินงานจัดตั้งศูนย์ฯ มาตั้งแต่ปี 2561 ขยายผลให้เป็นศูนย์เชื่อมประสานข้อมูลการทำงานกับหน่วยงานภายใต้ อว. และยกระดับให้เป็นศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับภาคและระดับท้องถิ่น ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างทหาร บัณฑิตอาสา และองค์ความรู้ของหน่วยงานภายใต้ อว. ในการส่งเสริมและขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่แข็งแรงและทันสมัยต่อไป” ดร.สุวิทย์ (รมว.อว.) กล่าว
ข้อมูลข่าวโดย : สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน.
ข่าวโดย : นายจิรายุ รุจิพงษ์วาที
ภาพโดย : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
วิดีโอโดย : นายสุเมธ บุญเอื้อ
ส่วนสื่อสารองค์กร
กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.