ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรง สร้างความเสียหาย ขยายวงสร้างผลกระทบไปทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทย แม้สถานการณ์จะผ่อนคลายลงบ้าง แต่ก็ยังไม่อยู่ในภาวะที่ทุกคนจะวางใจ ตราบใดที่วัคซีนยังไม่มา ยายังไม่มี วิถีชีวิตในแต่ละวัน จึงยังคงต้องระแวด ระวัง คอยฟังมาตรการจากรัฐบาล ว่าจะให้ประชาชนสู้ไปด้วยกันในรูปแบบไหน
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นแม่งานใหญ่ระดมมันสมองระดับกูรูแถวหน้าของเมืองไทย เพื่อสกัดแนวคิดหาหนทางฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย ด้วยการนำองค์ความรู้และบุคลากรด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) มาช่วยชาติในภาวะวิกฤต และได้ถกกันมาถึง 4 รอบ ตกผลึกแพคเกจ ที่ต้องเร่งขับเคลื่อนเป็นมาตรการเร่งด่วน ช่วยเหลือประชาชาชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
หนึ่งในประเด็นที่มีการพูดถึงคือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าจะเป็นทางรอดของประเทศ ในภาวะที่โลกจะเผชิญกับความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งเรื่องอาหาร สุขภาพ พลังงาน แต่ประเทศไทยยังมีทรัพยากรที่เพียงพอ หากมีการบริหารจัดการ และปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรดั้งเดิม เป็นเกษตรอินทรีย์ โดยใช้องค์ความรู้ ออวน. เข้าไปช่วย เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่ผลผลิตอย่างยั่งยืน ปรับการท่องเที่ยวแบบเดิม ที่ไม่มีทางเหมือนเดิม เป็นท่องเที่ยวในรูปแบบอัตลักษณ์ใหม่ คือเชิงสุขภาพ โดยเปลี่ยนโรงแรม ให้เน้นการบริการเพื่อสุขภาพมากขึ้น เชื่อมต่อกับการพัฒนาชุมชน กระเพื่อมจากท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการจ้างงาน ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามา
ในรูปแบบดังกล่าว ทำให้นึกถึง “สามพรานโมเดล” ที่โรงแรมสามพราน ได้สนับสนุนให้เกษตรกรในนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียง หันมาทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้โครงการ สามพรานโมเดล เมื่อปี 2553 ก่อนหน้านั้นเกษตรกรส่วนใหญ่ขายผลผลิตผ่านพ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นผู้กำหนดราคา ในขณะเดียวกัน เกษตรกรไม่สามารถควบคุมต้นทุนที่สูงขึ้นตามราคาสารเคมีได้ ทำให้มีปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้น สุขภาพและสิ่งแวดล้อมก็เสื่อมโทรมลง เกษตรกรส่วนใหญ่ติดอยู่ในวงจรแบบนี้มาทั้งชีวิต และไม่เฉพาะที่สามพรานเท่านั้น เกษตรกรทั่วประเทศก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน แม้วิกฤตเวลานั้น (วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) จะไม่ร้ายแรงเหมือนครั้งนี้ แต่ในวิถีการสู้กับปัญหา ถึงเวลาที่เราต้องกลับมาดู นอกจากนี้ สามพรานโมเดล ยังเป็นต้นแบบของการเป็นแหล่งเรียนรู้ของโลก ในแต่ละปีจะมีสถาบันชั้นนำจากหลากหลายประเทศมาเรียนรู้ดูงาน ที่สานต่อแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงแบบลงลึกถึงแก่นแท้ของความยั่งยืน
คุณชรินทร์ ช่วยประดิษฐ์ Senior Sales Manager ของสวนสามพราน เล่าให้ฟังว่า คุณอรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ผู้ริเริ่มขับเคลื่อนสามพรานโมเดล เมื่อปี 2553 โดยการสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักผลไม้และวัตถุดิบทางการเกษตร ร่วมกับโรงแรมสวนสามพราน เกษตรกรมีหน้าที่ส่งสินค้าให้กับโรงแรมเป็นหลัก โดยทั้งสองฝ่ายยืนอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน เป็นการค้าที่เป็นธรรม โดยต่างฝายต่างไม่ขาดทุน โรงแรมได้วัตถุดิบออร์แกนิกที่ดีและปลอดภัยในราคาที่ใกล้เคียง เมื่อเทียบกับซื้อผักเคมี ส่วนชาวบ้านก็สามารถกำหนดราคาที่ตัวเองพอใจได้ โครงการสามพรานโมเดล จะหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ให้กับเกษตรกร เป็นการเชื่อมตรงระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ผ่านห่วงโซ่คุณค่าเกษตรอินทรีย์บนพื้นฐานของธุรกิจที่เป็นธรรม ในช่วงก่อนวิกฤตโควิด มีช่องทางการตลาดทั้ง ตลาดสุขใจ ตลาดสุขใจสัญจร โมเดิร์นเทรด สวนสามพราน โรงแรมในกรุงเทพฯ ศูนย์ประชุม และเว็บไซต์ Sookjai Organics
ในสถานการณ์โควิด-19 สามพรานโมเดล เปิดแอพ “Thai Organic Platform” ช่วยเกษตรกรวิถีอินทรีย์ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ให้ผู้บริโภคช็อปสินค้าออร์แกนิกออนไลน์ตรงจากกลุ่มเกษตรกร จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงวัตถุดิบอินทรีย์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัยมั่นใจได้ถึงมาตรฐานการผลิตที่ไม่มีการใช้สารเคมี หรือใช้ยาฆ่าแมลง และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ สมาคมผู้บริโภคอินทรีย์และสามพรานโมเดล จึงได้ร่วมกันพัฒนาแอพพลิเคชั่น “Thai Organic Platform” เพื่อให้ผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล ได้เริ่มใช้งานแอพพลิเคชั่นนี้ ในการพรีออเดอร์ข้าว พืชผัก ผลไม้อินทรีย์ และสินค้าอินทรีย์แปรรูป หลังจากที่ทำมาได้ 3 สัปดาห์เสียงตอบรับดี ในส่วนของตลาดสุขใจเองก็ยังมีเปิดให้บริการทุกวัน ในรูปแบบ Drive-Thru
สำหรับ สามพรานโมเดล คือหนึ่งในเครือข่าย BCG ที่ สอวช. เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ เป็นโครงการที่สามารถตอบโจทย์ในทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พลังที่แท้จริงของการขับเคลื่อนในรูปแบบบีซีจี ไม่ใช่แค่เพียงภาครัฐบาล แต่ยังเป็นพลังของมหาวิทยาลัย เอกชน ชุมชน และเครือข่ายต่างประเทศ
ในสภาวะวิกฤตเช่นนี้ เครือข่าย BCG ที่มีอยู่ทั่วประเทศ จะเป็นขุมกำลังสำคัญของชาติ ที่จะช่วยกู้วิกฤตนี้ได้อย่างยั่งยืน แบบสู้ไปด้วยกัน ด้วยวิถีไทย นำใจคนไทย และพลังคนไทย ที่ไม่เคยแพ้ชาติใดในโลก
ขอขอบคุณภาพจาก : สวนสามพราน
#สอวช #NXPO #เศรษฐกิจพอเพียง #บีซีจีโมเดล #BCG #สามพรานโมเดล #สวนสามพราน #ความมั่นคงทางอาหาร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.