สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผนึก บริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ จำกัด เก็บเกี่ยวผลผลิตเมลอนเกรดพรีเมียมจากโรงเรือนอัจฉริยะ ส่งมอบบุคลากรทางการแพทย์ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ หน่วยงานเพื่อนบ้าน ซึ่งถือเป็นหน่วยงานพันธมิตรของ สวทช. ที่มีความใกล้ชิดและสนับสนุนการทำงานร่วมกันมาโดยตลอด เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและแทนคำขอบคุณที่ปฏิบัติหน้าที่สู้โควิด-19 อย่างเข้มแข็ง
ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) นำโดยนางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการ สท. พร้อมด้วย นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. นายเฉลิมชัย เอี่ยมสอาด นักวิชาการ ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีสวทช. และ นายสุวิทย์ ไตรโชค ผู้ก่อตั้งบริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ จำกัด ฟาร์มปลูกเมลอนกว่า 30 ปี ร่วมกันลงแปลง เมลอนในโรงเรือนอัจฉริยะ บริเวณแปลงเกษตรสาธิตของ สท. ภายในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเมลอน 4 สายพันธุ์ นำไปส่งมอบแก่บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานต่อสู้กับวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา โดยมี ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทนรับมอบ
นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการ สท. เปิดเผยว่า สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร มีบทบาทหน้าที่ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้อย่างกว้างขวางและทั่วถึง โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน ให้เกิดการปฏิรูปภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่การทำเกษตรแบบยั่งยืน สำหรับผลผลิตเมลอนที่เก็บเกี่ยวในวันนี้ เป็นตัวอย่างความร่วมมือในการทดสอบการปลูกพืชในระบบโรงเรือนอัจฉริยะ ระหว่าง สท. – สวทช. และ บริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ จำกัด เพื่อนำไปสู่การขยายผลความรู้แบบครบวงจรให้แก่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการให้สามารถผลิตเมลอนให้มีขนาดผลและความหวานได้คุณภาพและตรงตามมาตรฐานของท้องตลาดในอนาคต
“โรงเรือนอัจฉริยะที่พัฒนาขึ้น เป็นโรงเรือนแบบน็อคดาวน์โครงสร้าง SMART Greenhouse Knockdown สามารถขึ้นโครงและติดตั้งได้ในทุกพื้นที่ มีขนาดความกว้าง 6 เมตร ยาว 20 เมตร สูง 5.6 เมตร ออกแบบหลังคา 2 ชั้นพร้อมพัดลมระบายอากาศ และประตูกันแมลง 2 ชั้น ช่วยลดปัญหาแมลงเล็ดลอดเข้าไปในแปลงปลูก ที่สำคัญได้นำระบบเทคโนโลยี IoT (Internet of Thing) ที่มีเซนเซอร์ต่างๆ มาช่วยควบคุมสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนอัจฉริยะซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ เซนเซอร์วัดความเข้มแสง วัดความชื้นดินใช้ควบคุมการทำงานของระบบน้ำหยด เซนเซอร์วัดอุณหภูมิความชื้นอากาศ เซนเซอร์วัดอุณหภูมิ ใช้ควบคุมการทำงานของพัดลมใต้หลังคา ใช้ควบคุมการทำงานของระบบพ่นหมอก และใช้แอปพลิเคชัน (Application) แสดงผลแจ้งเตือนโดยควบคุมการทำงานของระบบผ่าน Smart Phone และ Web base”
รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อทดสอบและพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมในการเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตร บริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ฯ ได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์เมลอนสายพันธุ์ดีเกรดพรีเมียมพร้อมทั้งความรู้ในการผลิต ซึ่งผลปรากฏว่าคุณภาพและมาตรฐานรสชาติของผลผลิตเมลอนในการปลูกครั้งแรกได้ผลดีมีมาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่ง สท. - สวทช. พร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกพืชในระบบโรงเรือนอัจฉริยะ ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการที่สนใจ โดยสอบถามและดูงานได้ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
นายสุวิทย์ ไตรโชค ผู้ก่อตั้งบริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า การคัดเลือกสายพันธุ์เมลอนที่ดีมาปลูก เป็นเรื่องที่นาวิต้าฟู้ดส์ให้ความสำคัญมาก ตั้งแต่การทดลองจนมั่นใจว่าเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกได้ในเมืองไทย และ ได้ผลที่อร่อยตามความต้องการของผู้บริโภค บางสายพันธุ์ต้องใช้เวลาทดลองและคัดเลือกมากกว่า 5 ปี เป็นสายพันธุ์ที่เป็นเอกลักษณ์และเสน่ห์เฉพาะตัว ทั้งนี้จากการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้นาวิต้าฟู้ดส์ มีผลผลิต ที่มีคุณภาพดีสม่ำเสมอ ปลอดภัยต่อทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม การันตีด้วยใจผู้ปลูกและใบรับรอง (Certificate) จาก Central Lab และกรมวิชาการเกษตร ที่สำคัญปัจจุบันบริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ฯ ได้ร่วมกับทาง สท. สวทช. นำเซนเซอร์ (Sensors) และ Smart IoT Controller เข้ามาใช้ในการควบคุมดูแล และเก็บบันทึกข้อมูลนำไปสู่การเรียนรู้การปลูกพืชอย่างต่อเนื่อง “ผลผลิตเมลอนทั้ง 4 สายพันธุ์ที่ผ่านโรงเรือนอัจฉริยะของ สท.-สวทช. ในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งคุณภาพขนาดของผล และปริมาณผลผลิตที่ถือว่าเป็นไปตามความต้องการของตลาด”
สำหรับสายพันธุ์เมลอนที่นำมาปลูกนั้น ได้แก่ 1.เพิร์ลเมลอนเนื้อเขียว (Green Pearl Melon) : เนื้อสัมผัสนุ่มฉ่ำ มีกลิ่นหอมสไตล์มินิมอล หอมเย็นๆ ทานแล้วสดชื่น รสชาติลงตัว 2.โกลเด้นดราก้อน (Golden Dragon Melon) เนื้อส้ม : เนื้อหวานกรอบ 3.กาเลียเมลอนญี่ปุ่น (Japanese Galia Melon) เนื้อสีขาว : เนื้อสัมผัสนุ่มฉ่ำ มีกลิ่น หอมเข้มข้น กลิ่นมีมิติเมื่อเคี้ยวกลิ่นจะยิ่งชัดขึ้น เมื่อกลิ่นผสานกับความหวาน ทำให้พันธุ์นี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และ 4.เพิร์ลเมลอนเนื้อส้ม (Orange Pearl Melon) : เนื้อสัมผัสนุ่มฉ่ำ มีกลิ่นหอมสไตล์มินิมอล กลิ่นสไตล์ญี่ปุ่นแท้ๆ หอม หวานเข้ากันอย่างนุ่มนวล
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.