โครงการจ้างงานผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 เพื่อการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชน มีเป้าหมายการดำเนินงาน มุ่งเน้นการสร้างการเรียนรู้การดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุในพื้นที่โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ด้วยยุทธศาสตร์สูงวัยสร้างเมือง ด้วย 5 อ. 5 ก. ได้แก่ การสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การส่งเสริมการออกกำลังกาย การส่งเสริมอาชีพ การสนับสนุนให้มีการออม การส่งเสริมการเป็นอาสาสมัคร และนอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนเกี่ยวกับ การป้องกันและอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ การดูแลต่อเนื่อง การพัฒนาชมรมผู้สูงอายุ การตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ และการจัดให้มีศูนย์กายอุปกรณ์
สำหรับ โครงการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชน แบ่งการทำงานเป็น 4 เดือน เดือนที่ 1 เรียนรู้วิธีการทำงานเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่และสำรวจข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องการดูแลผู้สูงอายุ เดือนที่ 2 วิเคราะห์ข้อมูล และนำเสนอข้อมูล เพื่อการวางแผน ออกแบบกิจกรรม การดำเนินงานในการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ร่วมกับชุมชน เดือนที่ 3 ดำเนินกิจกรรมตามแผนที่ได้กำหนดโดยเน้นยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน 5 อ. 5 ก. และเดือนที่ 4 สรุปบทเรียนร่วมกับชุมชน
รมว.อว. กล่าวในตอนหนึ่งว่า สิ่งที่เราทำนั้นเป็นการเติมเต็มอย่างน้อยใน 2 เรื่อง คือเรื่องทุนมนุษย์และทุนสังคม เพราะการจ้างงานเกิดขึ้นในพื้นที่ เป็นการจ้างงานที่ไม่ใช่แค่เรื่องของรายได้แต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการร่วมมือร่วมใจที่จะทำให้ชุมชนหรือท้องถิ่นที่เราอยู่มีคุณภาพดีขึ้น เรากำลังตอบโจทย์เรื่องที่มีความสำคัญภายใต้วิกฤติโควิด นั่นคือสังคมสูงวัย สิ่งที่เทศบาลตำบลบ้านแฮดทำขึ้น น่าจะเป็นต้นแบบที่ทำให้สังคมสูงวัยกลายเป็นสังคมสูงวัยแบบ active ageing คือสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ต้องขอขอบคุณผู้ที่ได้รับการจ้างงานทุกท่านที่ได้เข้ามามีส่วนในการตอบโจทย์ประเทศ ด้วยการนำเอาประเด็นปัญหาหรือประเด็นท้าทายของชุมชนตนเองขึ้นมาเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส โดยอาศัยองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะพยาบาลศาสตร์ ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนในโครงการ สิ่งนี้คือรูปธรรมที่ชัดเจน ถ้าชุมชนมีศูนย์ความรู้ที่เข้มแข็งแล้ว นอกจากประเด็นของสังคมสูงวัยแล้ว ก็ยังจะสามารถตอบโจทย์ของประเทศในเรื่องต่างๆ อาทิการเกษตร สุขภาพ พลังงานชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ได้
การจ้างงานครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการช่วยเหลือกันในภาวะวิกฤติ แต่จุดมุ่งหมายที่สำคัญนอกเหนือจากผลกระทบของโควิดแล้ว คือภารกิจของกระทรวง ในเรื่องการสร้างคน สร้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาต่างๆในชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน อยากฝากเรื่องการสร้างสร้างอาชีพในการดูและคนสูงวัยในพื้นที่ จากองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัย การสร้างต้นแบบโรงเรียนคนสูงวัย (ageing education) การยกระดับ อาสาสมัครสาธารณะสุข (อสม.) ในพื้นที่ให้มีองค์ความรู้เพิ่มขึ้นทั้งด้านสุขภาพการแพทย์ และการบริหารการจัดการ การฝึกอบรมผู้ได้รับการจ้างงานให้ทุกคนมีทักษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านดิจิทัล ภาษาอังกฤษ การเงิน และสังคม เพื่อให้ผู้ได้รับการจ้างงานมีทักษะเหล่านี้ติดตัวไปหลังจากจบการจ้างงานในโครงการแล้ว ขอขอบคุณและให้กำลังใจในการทำงานของทุกภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
จากนั้น รมว.อว. เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยมีประเด็นในการหารือ ในเรื่องของการร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฐานราก ในโครงการจ้างงานของ อว. และโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนตามนโยบายรัฐบาล ในรูปแบบ Targeted Poverty Alleviation การผลักดัน Regional BCG และนโยบาย อว. ผ่านมหาวิทยาลัยในภูมิภาคในรูปแบบ Regional System Integrator ณ อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับฟังการรายงานการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในมิติต่าง ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของประเทศ
รมว.อว. ได้เน้นย้ำความสำคัญของมหาวิทยาลัยในการเป็นกำลังหลักสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศในช่วงหลังโควิด ทั้งการจ้างงานประชาชนผ่านมหาวิทยาลัย การขับเคลื่อน BCG ในเชิงพื้นที่ และระดับ sector โดยอาศัยองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยและภาคเอกชนได้ร่วมกันทำมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเรื่องการ re-skill up-skill และ new skill โดยให้ความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่สำคัญของภาคอีสาน รวมทั้งการจ้างงานบัณฑิต และนักศึกษา ในการลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อจัดทำ data base ในระดับตำบล
“เราจะสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นภายใต้แนวทาง การสร้างความเข้มแข็งจากภายในเชื่อมประเทศไทยสู่สังคมโลก การเดินหน้าไปด้วยกันโดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โควิดนั้นเป็นวิกฤติแต่ก็ยังสร้างโอกาสที่ให้ได้ดำเนินการในเรื่องที่เป็นความท้าทายของประเทศ อาทิ ปัญหาความเลื่อมล้ำ ความยากจน ความไม่เป็นธรรม การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำพาไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน BCG จะเป็นฐานรากสำคัญของประเทศที่ยังต้องเติมเต็มด้วยการบริหารจัดการที่ดีจากทุกภาคส่วนในสังคม ถือเป็นการผนึกกำลังครั้งใหญ่ เพื่อให้เกิดรูปธรรมจากการนำองค์ความรู้ต่างๆที่มีในมหาวิทยาลัยไปสู่ระดับโลก ภารกิจของพวกเราคือการต่อยอดองค์ความรู้ผ่านการวิจัย ติดอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชน เนื่องจากโจทย์ที่เราได้รับมาล้วนเป็นโจทย์ที่เป็นความคาดหวังของประชาชน มหาวิทยาลัยจึงเป็นกำลังหลักที่สำคัญในการพัฒนาเชิงพื้นที่ สร้างให้เกิดการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคส่วนอื่นๆ เพราะก้าวนี้จะเป็นก้าวที่มีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศ” รมว.อว. กล่าวในตอนท้าย
ถ่ายภาพ : อินทิรา บัวลอย
เขียนข่าว : วีนัส แก้วประเสริฐ
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.อว.(ภารกิจด้านการอุดมศึกษา)
ถนนศรีอยุธยา ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
www.facebook.com/opsMHESI/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.