17 มิถุนายน 2563 เวลา 08.30 น. ณ จังหวัดกาฬสินธุ์ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร อว. เดินทางลงพื้นที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการยุวชนอาสา เฟส 1 โดยจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดเริ่มต้นของโครงการ สาเหตุที่เลือกจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินโครงการนี้ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ติด 1 ใน 4 จังหวัด ที่ยากจนที่สุดในประเทศ มีสัดส่วนคนยากจนสูงถึง 31.99 % โดยโครงการยุวชนอาสาในเขตพื้นที่กาฬสินธุ์ ได้รับความร่วมมือจาก 7 มหาวิทยาลัย และนักศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 800 คน โดยโครงการยุวชนอาสา เฟส 1 มีนักศึกษานำเสนอโครงการในการลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชน จำนวน 83 โครงการ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม 18 โครงการ ทำใน 15 ตำบล 8 อำเภอ นักศึกษาเข้าร่วม 162 คน งบประมาณที่กระทรวงฯ สนับสนุน จำนวน 8,207,500 บาท มหาวิทยาลัยศรีปทุม 2 โครงการ 1 ตำบล 1 อำเภอ นักศึกษา 22 คน งบฯ 1 ล้านบาท มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ 2 โครงการ 2 ตำบล 2 อำเภอ นักศึกษา 20 คน งบฯ 980,000 บาท มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ 34 โครงการ 34 ตำบล 11 อำเภอ นักศึกษา 214 คน งบฯ 16,230,919 บาทมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขต เฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร 4 โครงการ 4 ตำบล 4 อำเภอ นักศึกษา 35 คน งบ 1,951,740 บาท มหาวิทยาลัยขอนแก่น 14 โครงการ 14 ตำบล 8 อำเภอ นักศึกษา 172 คน งบฯ 6,799,500 บาท มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตนครราชสีมา 1 โครงการ 1 ตำบล 1 อำเภอ นักศึกษา 8 คน งบฯ 490,000 บาท มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น 6 โครงการ 6 ตำบล 3 อำเภอ นักศึกษา 59 คน งบ 2,934,000 และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ 2 โครงการ 2 ตำบล 2 อำเภอ นักศึกษา 14 คน งบฯ 980,000 บาท รวม 83 โครงการ 63 ตำบล 15 อำเภอ นักศึกษา 806 คน งบฯ 39,573,659 บาท
ภายในหอประชุมมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ดร สุวิทย์ เมษินทรีย์ (รมว.อว.) ได้รับชมการนำเสนอโครงการต่างๆ ที่นักศึกษาได้ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือประชาชน ผ่านนิทรรศการที่จัดแสดงในหอประชุม อาทิ โครงการการสร้างการตระหนักและส่งเสริมการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง, โครงการการส่งเสริมคุณภาพเศรษฐกิจของชุมชนโดยการมีส่วนร่วม โครงการการจัดการอาหารกลางวันพื้นบ้านอีสานสำหรับเด็กปฐมวัยโดยชุมชน เป็นต้น ซึ่งการดำเนินโครงการต่างๆเป็นการต่อยอดของนักศึกษาในแต่ละมหาวิทยาลัยในการนำเอาองค์ความรู้ไปใช้จริงในเขตพื้นที่ชุมชนต่างๆ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ยุวชนจะนำเอาองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีไปพัฒนาพื้นที่ชนบท พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และผู้ประกอบการอีกด้วย หลังจากนั้น ดร.สุวิทย์ ได้ร่วมพูดคุยเสวนากับนักศึกษาที่มีผลงานเด่น จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโรงสีข้าวชุมชน จากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์,โครงการเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรในการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย เพื่อเป็นอาหารสัตว์โปรตีนสูง จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร,โครงการเพิ่มศักยภาพการคัดแยกขยะภายในครัวเรือน จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น,โครงการเครื่องอบพริกแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, โครงการการพัฒนาทักษะการเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าว จากมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ,โครงการส่งเสริมการทำเกษตรด้วยระบบสมาร์ทฟาร์ม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน,โครงการการสร้างนวัตกรรมสู่ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า จากตัวอย่างทั้ง 5 โครงการที่ได้ร่วมพูดคุยเสวนากับนักศึกษา นอกจากจะตอบโจทย์ตัวเราเอง นักศึกษายังไดลงมือปฏิบัติจริง ได้สัมผัสชีวิตจริง ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งจะไม่ใช่การเรียนรู้ภายในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการลงมือทำและปฏิบัติจริง ซึ่งการดำเนินการโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้น สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า กาฬสินธุ์โมเดลเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของโครงการยุวชนสร้างชาติ ทาง อว. กำลังดำเนินงานโครงการจ้างบัณฑิตกว่า 200,000 คนและนักศึกษากว่า 100,000 คน ซึ่งคราวนี้จะเป็นการครอบคลุมทั่วประเทศ
ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อไปว่า โครงการยุวชนอาสา เป็น 1 ใน 3 โปรเจคของโครงการยุวชนสร้างชาติ ซึ่งประกอบด้วย ยุวชนอาสา บัณฑิตอาสา ยุวสตาร์ทอัพ กองทุนยุววิสาหกิจเริ่มต้นและยุวชนอาสา โดยเป้าหมายของโครงการยุวชนอาสา คือการนำนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี 800 – 1,000 คนไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศึกษาวิเคราะห์และประมวลผลของปัญหาชุมชนในชุมชนพื้นที่เป้าหมาย 80 – 100 ตำบล ที่มีปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้หรือนวัตกรรมในสถาบันอุดมศึกษาหรือหน่วยงานภายในกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มาบูรณาการในการแก้ปัญหา คลอบคลุม 4 ด้านได้แก่ 1.พัฒนาศักยภาพที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย 2. ยกระดับคุณภาพและรายได้ด้านการท่องเที่ยวและส่งเสริมการค้า การลงทุน 3. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.การพัฒนาทุนมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมที่มีความมั่นคงและสงบสุข
จากนั้น ดร.สุวิทย์ ได้มอบสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ “การพัฒนาแนวคิดเพื่อสร้างรูปแบบธุรกิจนวัตกรรม” มูลค่า 100,000 บาท จากกองทุนยุวสตาร์ทอัพ ภายใต้แผนงานยุวชนสร้างชาติของ อว.ให้แก่กลุ่มนักศึกษาที่มีศักยภาพในการต่อยอดธุรกิจ จำนวน 5 กลุ่มที่กล่าวไปข้างต้น
เวลาประมาณ 14.00 น. ดร.สุวิทย์และคณะ เดินทางไปเยี่ยมชมความสำเร็จโครงการยุวชนอาสา โครงการ “การยกระดับบริการบ้านพักชุมชนสู่การเป็นโฮมสเตย์มาตรฐานประเทศไทย” ที่หมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านหนองแวงภูปอ เทศบาลตำบลภูปอ จ.กาฬสินธุ์ โครงการนี้ เป็นการบูรณาการการศึกษาและพัฒนางานวิจัยในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อศึกษาศักยภาพทรัพยากรการท่องเที่ยวในชุมชนโฮมสเตย์หนองแวงภูปอ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ และสามารถยกระดับรูปแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนหนองแวงภูปอให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวที่สามารถขับเคลื่อนเองได้ ผ่านกระบวนการทางวิชาการที่มีนักศึกษาและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นผู้ช่วยดำเนินงานหลัก และสามารถเตรียมเอกสารให้พร้อมยื่นขอรับรองสู่มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย
เขียนข่าวโดย : นายปวีณ ควรแย้ม
ภาพนิ่ง : อินทิรา บัวลอย
ภาพวีดีโอ : นายกรภัทร์ จิตต์จำนงค์ และ นายสกล นุ่นงาม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.