(30 มิถุนายน 2563) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วย นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการ รมว.อว., ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว., ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และคณะทำงาน รมว.อว. ร่วมประชุมหารือกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และคณะผู้บริหาร เข้าร่วมประชุม เพื่อการพัฒนางานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ และธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ณ ห้องประชุมจีระ บุญมาก ชั้น 3 อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) กล่าวต้อนรับและแนะนำกรรมการสภาสถาบันฯ พร้อมทั้งกล่าวสรุปผลการดำเนินงานโดยรวมของสถาบันฯ ว่า ทางสถาบันฯ กำลังมุ่งดำเนินงานด้านนวัตกรรมบริหารเมืองสู่ความยั่งยืน (Msc of Smart City and Urban Analytic) โปรแกรมการพัฒนานักวางแผนยุทธศาสตร์เมืองและเศรษฐกิจ สร้างสมรรถนะระดับสูงด้านการวางแผนและการออกแบบนโยบายสาธารณะด้านกายภาพ โครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการการออกแบบแผนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง สู่ความเป็นเลิศด้านการแข่งขัน โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายสาธารณะทุกระดับ ผู้นำระดับผู้ประกอบการและผู้บริหารองค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ นักวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชำนาญการและผู้เชี่ยวชาญการวางแผนเมือง ผังเมือง และสภาพแวดล้อม สำหรับ Strategic Partners ของหลักสูตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, บริษัทพัฒนาเมือง, หน่วยงานภาครัฐและเอกชน
นอกจากนั้น ยังศึกษาการพัฒนาเมืองในย่านบางกะปิ โครงการ Bangkapi Smart District "บางกะปิ ย่านทันสมัยน่าอยู่ คู่ความรู้ สู่สังคม ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่ดี" ซึ่งสถาบันฯ ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการพัฒนาย่านบางกะปิให้พร้อมรองรับการเจริญเติบโตของเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นเพื่อให้ชุมชนได้พัฒนาและเติบโตไปพร้อมกับความเจริญของเมือง ความร่วมมือจากชาวชุมชนจึงถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยให้ชุมชนสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงต่อไป
ด้าน ดร.สุวิทย์ ได้เสนอข้อคิดเห็นว่า NIDA ไม่จำเป็นจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่มีครบถ้วนทุกด้าน เพราะ NIDA เหมาะสมที่จะมุ่งเน้นในส่วนของ “SEP for SDG หัวใจขับเคลื่อน Thailand 4.0” ผ่านรูปแบบการดำเนินงานในเรื่องของ BCG ซึ่งเป็นฐานรากของประเทศ ต่อยอดการบริหารการจัดการนวัตกรรม โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวง รัชกาลที่ 9 เข้ามาประยุกต์ใช้กับศาสตร์ต่าง ๆ นอกจากนั้น NIDA น่าจะเป็นตักศิลาในด้านของเศรษฐกิจพอเพียงและหลังจาก Post Covid ควรมุ่งไปสู่ SDG ให้ไวที่สุด ถอดรหัสให้ชัดเจน และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ คือ เรื่องของ AI ซึ่งมองว่า NIDA จะสามารถช่วยดำเนินงานในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ทั้งด้าน National Strategy และ BCG โดยมุ่งเน้นแค่ 2 เรื่อง ได้แก่ Healthcare และ Food ส่วนในเรื่องของการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้านต่าง ๆ ควรให้มหาวิทยาลัยที่มีบทบาทและภารกิจโดยตรงอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏดำเนินงานด้านนี้ไป
สำหรับโครงการ Bangkapi Smart District ก็มีความน่าสนใจและเห็นด้วยที่จะให้ NIDA ดำเนินงานต่อ แต่จะต้องพัฒนาโดยรอบ ขยายวงกว้างให้มากขึ้น ไม่ใช่โฟกัสที่ย่านบางกะปิเพียงอย่างเดียว เมื่อพัฒนาตรงนี้ให้เป็นต้นแบบได้แล้วค่อยขยายผลไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากมอบหมายให้ทาง NIDA มุ่งดำเนินการและสร้างให้เกิดเป็นรูปธรรมมากที่สุด คือเรื่องของ social science สาขาวิชาที่ใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาโลกในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ หน่วยสังคมต่าง ๆ ของมนุษย์ รวมทั้งพฤติกรรมของมนุษย์ในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตามอยากเห็นเรื่องนี้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.