ทีเซลส์ จับมือเครือโรงพยาบาลพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโล ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีและพันธมิตรภาคเอกชน พัฒนาโครงการปัญญาประดิษฐ์ สำหรับการวิเคราะห์ภาพเอ็กซ์เรย์ทรวงอก ในการตรวจคัดกรอง โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส COVID-19 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) จับมือเครือโรงพยาบาลพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโล ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ ภายใต้ย่านนวัตกรรม การแพทย์โยธี และภาคเอกชน พัฒนาโครงการปัญญาประดิษฐ์ สำหรับการวิเคราะห์ภาพเอ็กซ์เรย์ทรวงอก ในการตรวจคัดกรอง โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส COVID-19
จากสถานการณ์การระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 ทั่วโลก ทำให้มีการพัฒนาและใช้องค์ความรู้ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางด้านการแพทย์และสุขภาพ เป็นที่คาดหมายได้ว่าจะนำไปสู่การก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี (technology transformation) และเกิดการแพร่กระจายของนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องแม้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตไปแล้ว และเนื่องจากการระบาดของโรคในปัจจุบันทั่วโลกยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ มาตรการในการตรวจคัดกรอง ควบคุม ติดตามยังคงหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนและควบคุมในประเทศเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในเชิงกว้าง ซึ่งการมองหาเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการและคัดกรองและติดตาม เฝ้าระวังจึงถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญเช่นกัน
หนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการแพทย์และสุขภาพคือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) ด้วยความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลมหาศาล และความรวดเร็วแม่นยำในการประมวลผลเชิงตรรกะ AI จึงสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมากมายและเห็นความแตกต่าง การพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ในช่วงสภาวะวิกฤต COVID-19 มีมากมายหลายด้าน
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “โครงการย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (Yothi Medical Innovation District : YMID) ถือเป็นหนึ่งโครงการที่จะช่วยผลักดันงานนวัตกรรมการการแพทย์ไทยให้ก้าวกระโดด จากความร่วมมือของหน่วยงานย่านฯ หลายหน่วยงงานไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยมหิดล กรมแพทย์ทหารบก กรมการแพทย์ แต่ละหน่วยงานมีศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมเป็นอย่างมาก เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นหนึ่งเทคโนโลยีที่อยู่ในแผนงานและเราต้องการผลักดันให้เกิดการพัฒนาร่วมกันของหน่วยงานในย่านฯ และขยายผลสู่การใช้งานจริง จากสถานการณ์การระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 เป็นเสมือนตัวเร่งให้เทคโนโลยีเกิดการพัฒนาได้รวดเร็วมากขึ้นและหน่วยงานพันธมิตรภายในย่านฯ สามารถร่วมกันในการพัฒนาวิจัยให้เกิดงานนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมากมาย การคัดกรองผู้ป่วย COVID-19 ด้วยภาพทางการแพทย์ที่สนับสนุนด้วยปัญญาประดิษฐ์เป็นหนึ่งเทคโนโลยีที่มีความพร้อมในการนำมาช่วยในการคัดกรองและติดตามการระบาด แต่ต้องการผลการศึกษารองรับอย่างแน่ใจถึงประสิทธิภาพ ผลกระทบและนโยบายในการสนับสนุนการใช้งาน เพื่อให้การตัดสินใจในเชิงยโนบายและประโยชน์ต่อประชาชนจำนวนมากนั้น TCELS จึงให้สนับสนุนทุนโครงการปัญญาประดิษฐ์ สำหรับการวิเคราะห์ภาพเอ็กซ์เรย์ทรวงอก ในการตรวจคัดกรองโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส COVID-19 แก่ศูนย์เร่งรัดวิจัยและนวัตกรรมเอกชน เครือโรงพยาบาลพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโล ร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนาโครงการ กับโรงพยาบาลราชวิถี ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมกันนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), บริษัท เมลโลว์ อินโนเวชัน จำกัด และ JLK Inspection Korea PCL ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือแพทย์ในวงการสาธารณสุข สามารถนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการให้บริการด้านสาธารณสุขให้กับหน่วยงานพันธมิตร ในช่วงการทำงานวิจัยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โครงการนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่ง โครงการที่ได้สร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีจุดมุ่งหมายช่วยลดภาระของหน่วยงานและบุคลากรทางการแพทย์ ในการดำเนินงานช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้เป็นอย่างดี”
อาจารย์ ดร.ประภาศรี เบญจศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ศูนย์เร่งรัดวิจัยและนวัตกรรมเอกชน เครือโรงพยาบาลพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโล หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึง ศูนย์เร่งรัดวิจัยและนวัตกรรมเอกชน เครือโรงพยาบาลพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโล ได้ร่วมพัฒนาเทคโนโลยี ชุด Portable Chest x-ray : CXR มาช่วยถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์ทรวงอก และใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ช่วยแปลผลภาพรังสีบริเวณทรวงอก (Chest x-ray : CXR) เพื่อตรวจคัดกรองโรคปอดอักเสบ เกิดจากความร่วมมือการพัฒนาในประเทศเกาหลีใต้ โดย บริษัท เมลโลว์ อินโนเวชัน จำกัด และบริษัท JLK Inspection Korea PCL จำกัดเป็นเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำ สามารถแปลผลวินิจฉัยจากวิเคราะห์ภาพเอ็กซ์เรย์ทรวงอกได้ราว 15 โรค ผ่านการรับรอง จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) จากประเทศเกาหลีใต้มาตรวจคัดกรองเบื้องต้นเฉพาะโรคปอดอักเสบติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศ
ปัจจุบันได้ร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถีในการวิจัยเพื่อประเมินประสิทธิภาพความแม่นยำของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ในการแปลผลเมื่อเทียบกับรังสีแพทย์พบว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) สามารถช่วยแพทย์แปลผลได้รวดเร็วมีความแม่นยำโดยประมาณ ณ ปัจจุบันคือ ร้อยละ 90 ถือเป็นก้าวหนึ่งของความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาโดยได้รับความช่วยเหลือจากบริษัท เมลโลว์ อินโนเวชัน จำกัด ช่วยในการพัฒนาการเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลกับระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ทำให้โครงการพัฒนาได้รวดเร็วเพิ่มเติมขึ้น ขั้นตอนต่อไปคือการเข้าสู่กระบวนการยืนยันความแม่นยำขั้นที่สองและขั้นที่3คือการตรวจคัดกรองบุคลากรทางการแพทย์ บุคคลทั่วไปที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และไม่เสี่ยง (กลุ่มอาสาสมัคร)นำผลการแปลผลจากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เทียบกับการตรวจทางอณูชีววิทยาหาเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ได้จาก swab จากผู้ติดเชื้อโดยวิจัยร่วมกับศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อยืนยันความแม่นยำของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จภายในปีนี้และจะสามารถขยายผลสู่การใช้งานจริงเพื่อให้ประชาชนได้เข้ารับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพในเร็วๆนี้
นพ.ทวนทศพร สุวรรณจูฑะ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางานวิชาการสนับสนุนงานวิจัยและความร่วมมือต่างประเทศกลุ่ม PMC และผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนทางการแพทย์ โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวว่า “ในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 บุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลก ตระหนักดีว่า เราไม่ได้ถูกเตรียมพร้อมเพื่อมาตั้งรับกับการระบาดของ COVID-19 เชื้อนี้สามารถแพร่เชื้อจากผู้ติดเชื้อได้ตั้งแต่ยังไม่ปรากฏอาการ และยังไม่มีไข้ ซึ่งแสดงว่าแม้ Thermoscan จะยังไม่พบไข้ก็อาจแพร่เชื้อได้ แพทย์ทุกสาขา โดยเฉพาะแพทย์ทางด้านการวินิจฉัยด้วยภาพ รังสีแพทย์ และเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิค ของเครือโรงพยาบาล PMC จึงสนใจเครื่องมือช่วยในการวินิจฉัยโรค COVID-19 ด้วยภาพเอกซ์เรย์และใช้ AI มาเป็นผู้ช่วยแพทย์ในการเฝ้ามองหาจุดที่น่าสงสัย และทำให้แพทย์สามารถทำงานต่อเนื่องยาวนานได้โดยมีความแม่นยำที่ดีจากเคสแรกของวันไปถึงเคสสุดท้ายของวัน ถ้ามี AI ที่ช่วยได้ดังกล่าวก็จะช่วยให้แพทย์มีอาวุธทันสมัยพอจะช่วยผู้ป่วยได้ในจำนวนมากตามต้องการได้”
รศ.พิเศษ นพ.สถิตย์ นิรมิตรมหาปัญญา นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานอายุรกรรมและหัวหน้างานนวัตกรรมทางการแพทย์โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า “โรงพยาบาลราชวิถีถือเป็นหนึ่งโรงพยาบาลที่ได้รับมอบหมายในการตรวจคัดกรองและรักษาผู้ป่วยติดไวรัสโคโรนา 2019 ตามแนวทางการควบคุมโรคของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากการแพร่ระบาดที่มีจำนวนผู้ป่วยจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา โรงพยาบาลราชวิถี ก็มีความพยายามในการพัฒนางานนวัตกรรมทั้งดานการบริการ และการรักษามาช่วยให้การตรวจคัดกรอง การรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพนั้น ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยในการพัฒนาและผลักดันงานวิจัยได้ย่านจึงได้สนับสนุนโครงการปัญญาประดิษฐ์ สำหรับการวิเคราะห์ภาพเอ็กซ์เรย์ทรวงอก ในการตรวจคัดกรองโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส COVID-19 โดยความร่วมมือกับหน่วยงานภายในย่านฯ เช่น เครือโรงพยาบาลพญาไท เปาโล และตนในฐานะหัวหน้างานนวัตกรรมทางการแพทย์โรงพยาบาลราชวิถี มองเห็นว่าเทคโนโลยีดังกล่าวหากสำเร็จแล้วจะสามารถช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มความรวดเร็วและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยติดไวรัสโคโรนา 2019 จึงร่วมดำเนินงานด้านการวิจัยและเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถขยายผล ไปโรงพยาบาลพื้นที่ที่ยังขาดแคลนอุปกรณ์ในการตรวจคัดกรองได้อีกมาก”
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี สนับสนุนการตรวจทางอณูชีววิทยาหาเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 และจุลชีพก่อโรค มากกว่า 25,000 สายพันธุ์ ที่ได้จาก swab จากผู้ติดเชื้อที่ AI Mobile X-Ray ตรวจจับได้ เพื่อทดสอบความไว (sensitivity) ของระบบ AI Mobile X-Ray ดังกล่าวในการตรวจจับ SARS-CoV-2 และจุลชีพก่อโรค พร้อมกับทดสอบความจำเพาะ (specificity) ของ AI Mobile X-Ray ในการแยกโรค COVID-19 จากโรคปอดติดเชื้อจากสาเหตุอื่นๆ”
นายรณสิทธิ ภุมมา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมลโลว์ อินโนเวชัน จำกัด กล่าวว่า “ในนามของบริษัท เมลโลว์ อินโนเวชัน จำกัด เป็นผู้ที่ได้รับโอกาสร่วมทีมวิจัย ขอขอบพระคุณผู้สนับสนุนให้ทุนวิจัย ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ด้านสาธารณสุข (AI for Health) มาใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 (COVID-19) โดยทางบริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า งานวิจัยนี้จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรอง ป้องกัน จำกัดการระบาด และทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที รวมทั้งเกิดการสร้างมาตรฐานของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าสามารถเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ในประเทศไทย และขยายผลไปใช้ได้จริงในหน่วยงานสาธารณสุขตามแต่ละจังหวัดต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต”
คุณอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายงานขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัท เอไอเอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เอไอเอส ผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ร่วมมือกับ เครือโรงพญาบาลพญาไท-เปาโล และหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ในโครงการปัญญาประดิษฐ์ สำหรับการวิเคราะห์ภาพเอ็กซ์เรย์ทรวงอก ในการตรวจคัดกรอง โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมด้านระบบสุขภาพดิจิทัล (Digital Healthcare) โดยเอไอเอสนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปร่วมพัฒนาในโครงการนี้ ประกอบด้วย สัญญาณจากเครือข่าย AIS 5G, AIS Fibre, Robotic, Cloud และ AIS Partner Platform ที่ช่วยให้การใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ”
“ทั้งนี้ เอไอเอส ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลไลฟ์ มีความมุ่งมั่นพัฒนา นวัตกรรมร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา ได้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย และขับเคลื่อนประเทศด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี เพื่อมีส่วนช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและสังคมให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาชาติ ผ่านระบบนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation Framework) พร้อมทั้ง ทำงานร่วมกับพันธมิตรด้านนวัตกรรมผ่านโครงการ AIS Playground Garage ที่ร่วมสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยงานวิจัย (Co-Research) โดยในปัจจุบัน เอไอเอส มีเครือพันธมิตรด้านนวัตกรรมที่ได้ลงนามความร่วมมือแล้วกว่า 25 ราย และมีบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน (User Experience Design) และรูปแบบการให้บริการ (Business Model) ซึ่งทั้งหมดนี้ จะมีส่วนช่วยผลักดันให้งานวิจัยต่างๆ สามารถออกสู่สาธารณชนได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น”
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.