9 กรกฎาคม 2563 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มอบนโยบายเรื่อง “กรอบนโยบายการขับเคลื่อนโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” ในการประชุมหารือกรอบและแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมีปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้บริหารกระทรวงการอุดมศึกษาฯ คณาจารย์และผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมการประชุมกว่า 250 คน
ดร.สุวิทย์ กล่าวในตอนหนึ่งว่า นับเป็นอีกครั้งที่เรากำลังเผชิญกับวิกฤติเชิงซ้อนที่มีทั้งด้านสุขภาพและตามมาด้วยเรื่องของเศรษฐกิจ แต่เรายังจะต้องขับเคลื่อนประเทศต่อไป โดยอาศัยพลังของเยาวชน พลังของประชาชน พลังของนักศึกษา พลังของบัณฑิตซึ่งจะเป็นผู้กำหนดอนาคตประเทศ สิ่งสำคัญของโลกหลังโควิดคือการสร้างความเข้มแข็งจากภายในก่อนเชื่อมโยงไปยังประชาคมโลก เราต้องใช้ local economy หรือเศรษฐกิจฐานราก เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยซึ่งถือเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า พลังของอาจารย์ นิสิต นักศึกษา และบัณฑิตจะเป็นพลังที่ขับเคลื่อนประเทศอย่างแท้จริง
จะทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยสามารถตอบโจทย์ประเทศ ตอบโจทย์พื้นที่ได้ วันนี้เป็นมิติที่สำคัญ เพราะตำบลเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะสม ทั่วประเทศมีกว่า 7,900 ตำบล ซึ่งมหาวิทยาลัยมีครอบคลุมทั่วประเทศเช่นกัน นี่คือโอกาสครั้งสำคัญที่จะเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส คือการใช้พลังของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ทั่วประเทศทำในเรื่องเศรษฐกิจฐานราก นี่คือการนำศักยภาพของบัณฑิตออกมาผ่านการจ้างงาน เรากำลังสร้างให้เกิดบัณฑิตติดถิ่น เพื่อให้รู้สึกว่าสิ่งที่เรียนมาสามารถที่จะทำประโยชน์ให้พื้นที่ของเขาได้
เราต้องลงทุนในทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังจะต้องปลูกฝังเรื่อง mind set และ skill set อย่างน้อย 4 เรื่อง ได้แก่ English literacy / digital literacy / Financial literacy และ Social skill ที่มีความจำเป็นและต้องมีติดตัวไปตลอดชีวิต โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เราจะเริ่มต้นทำกว่า 7,900 ตำบล สิ่งที่สำคัญคือเป้าหมายของแต่ละตำบลควรเป็นอย่างไร ตำบลที่ยั่งยืนในอนาคตหน้าตาเป็นอย่างไร การที่จะยั่งยืนได้จะต้องรู้ว่าปัญหาคืออะไร โอกาสคืออะไร เราจึงมีการระดมนักศึกษา และบัณฑิตครั้งใหญ่ที่ลงไปทำ data based ของชุมชน เพื่อจะมี big data ครั้งใหญ่ครอบคลุม 7,900 ตำบล ทำให้ได้รู้ถึงปัญหา สาเหตุของปัญหา โอกาสและแนวทางที่จะไปสู่โอกาสของแต่ละตำบลที่แตกต่างกัน โดยการถักทอ 4 ทุนเข้าด้วยกัน ได้แก่ 1. ทุนมนุษย์ คือบัณฑิต นักศึกษา ที่จะกลายเป็นพลังติดถิ่น 2. ทุนสังคม คือ การทำงานในลักษณะของการทำงานร่วมกันและเป็นเครือข่าย 3. ทุนกายภาพ คือ เรื่องข้อจำกัดและโอกาสของแต่ละชุมชนที่แตกต่างกัน และ 4. ทุนทางด้าน data ซึ่งจะเป็นพลังในอนาคตในการบ่งชี้การจัดสรรทรัพยากร และทิศทางการพัฒนาตำบลเพื่อการสร้างประเทศไทยไปข้างหน้า ภายใต้แนวคิด "รวมไทยสร้างชาติ"
“ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่มาผนึกกำลังกันในครั้งนี้ การนำเอาพลังของอาจารย์มาทำงานร่วมกันกับบัณฑิตกับนักศึกษา และเป็นโอกาสครั้งสำคัญของอาจารย์ที่จะได้ทำงานวิจัยบนพื้นที่ ซึ่งจะเกิดคุณค่าครั้งใหญ่ของประเทศ ภารกิจของ อว. คือการสร้างคน โดยการสร้างงาน อีกด้านหนึ่งคือภารกิจในการสร้างองค์ความรู้ เรากำลังสร้างองค์ความรู้ที่จับต้องได้เป็นองค์ความรู้ในระดับฐานราก ระดับตำบล ระดับชุมชนอย่างแท้จริง และภารกิจการสร้างนวัตกรรม จากนี้ไปคือการสร้างนวัตกรรมชุมชน นวัตกรรมแก้จน นวัตกรรมสังคมครั้งใหญ่ นี่คือการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง” ดร.สุวิทย์ กล่าวในตอนท้าย
นอกจากนี้ภายในงานประชุมยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ วะสี ในการปาฐากถาพิเศษ หัวข้อ “อุดมศึกษาพลังเปลี่ยนประเทศไทยและแก้ไขความยากจนอย่างยั่งยืนถาวร” และการชี้แจงแนวทางการบริหารโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย โดย ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และรองศาสตราจารย์ ดร.ขนิษฐา นันทบุตร กรรมการบริหารโครงการ และการเสวนาในหัวข้อ รูปธรรมการบูรณาการการแก้ปัญหาความยากจนระดับตำบลโดยผู้แทนจากมหาวิทยาลัยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
วัชรพล วงษ์ไทย : ถ่ายภาพ
จรัส เล็กเกาะทวด : วีดีโอ
วีนัส แก้วประเสริฐ : เขียนข่าว
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.อว.(ภารกิจด้านการอุดมศึกษา)
ถนนศรีอยุธยา ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
www.facebook.com/opsMHESI/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.