กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) จับมือร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรี นครินทรวิโรฒ เปิดตัวโครงการ “Life Sci. Level Up Challenge 2020” ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์ ชั้น 1 โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท 11 กรุงเทพฯ วันที่ 10 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00 – 12.00 น. เพื่อส่งเสริมและบ่มเพาะกลุ่มบริษัท Startup และนักวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพรายใหม่ และร่วมฟังเสวนาหัวข้อ “Life Sci. Startup : โอกาส ความท้าทาย และความเป็นไปได้ในการเติบโต” โดยกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ พร้อมเปิดตัว 27 ทีม ที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อเข้าร่วมพัฒนาศักยภาพแบบเจาะลึกกับวิทยากรชื่อดังที่มากด้วยความรู้และประสบการณ์ จำนวน 30 ชั่วโมง ระหว่างเดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2563 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และร่วมพิชิตโอกาสทางธุรกิจมูลค่ารวมกว่า 300,000 บาท
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า “ทีเซลส์ให้การสนับสนุนและผลักดันโครงการ “Life Sci. Level Up Challenge 2020” กิจกรรมส่งเสริมและบ่มเพาะกลุ่มนักวิจัยและบริษัทสตาร์ทอัพ ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพรายใหม่ 2020 มาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ด้านชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences Technology) ให้มีความเข้มแข็งสามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับภูมิภาคและสากล อีกทั้งยังเป็นการขยายการค้า การลงทุน และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจทางการตลาดในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของประเทศ โดยปีนี้จะมุ่งเน้นการพัฒนาส่วนที่ผู้ประกอบการแต่ละรายที่ยังมีจุดอ่อน หรือต้องการพัฒนาส่วนใดส่วนหนึ่ง เพื่อเติมเต็มศักยภาพของทีมตนเองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากเดิม”
“ความโดดเด่นของกิจกรรมนี้ คือ มุ่งพัฒนาศักยภาพให้กับทั้งกลุ่มนักวิจัยและบริษัทสตาร์ทอัพด้านชีววิทยาศาสตร์ ที่มุ่งเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นไบโอเทค, ฟาร์มาซูติคอล, เครื่องมือแพทย์ (Medical Devices), การวินิจฉัยโรค (Diagnostics), เครื่องสำอาง-อาหารเสริม และ Digital Health IT เป็นต้น ควบคู่ไปกับการเสริมความรู้และทักษะในการประกอบธุรกิจ ด้านการตลาด ด้านกฎหมายเฉพาะ โดยนักวิชาชีพที่มีประสบการณ์ร่วมกับกลไกลการวิเคราะห์แผนการดำเนินธุรกิจจากกลุ่มเมนเทอร์ในสาขาความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง”
ดร.นเรศ กล่าวเพิ่มเติม “ในปีนี้มีนักวิจัยและบริษัทสตาร์ทอัพ สนใจสมัครมาเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 47 ทีม และผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 27 ทีม ซึ่งหลังจากนี้ ทางโครงการจะวิเคราะห์ศักยภาพของทีม เพื่อวางแผนพัฒนาเฉพาะจุดให้กับทีมที่ผ่านการคัดเลือก และทั้งหมดยังได้รับการพัฒนาศักยภาพที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในระยะแรก จำนวน 12 ชั่วโมง จากนั้น จะเป็นการพัฒนาศักยภาพเฉพาะกลุ่มธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ ในแต่ละกลุ่ม ในระยะที่สอง จำนวน 12 ชั่วโมง และในระยะที่สาม จะเป็นการพัฒนาตามความต้องการของแต่ละทีมในประเด็นต่างๆ ที่เน้นการแก้จุดด้อย เสริมจุดเด่น จำนวนไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง จากนักวิชาการและนักวิชาชีพที่มีประสบการณ์ อาทิ คุณธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย, ดร.เลอสรร ธนสุกาญจน์, คุณปฐมพงษ์ เล็กสมบูรณ์ และคุณไกรวิน วัฒนะรัตน์ เป็นต้น”
“เมื่อทุกทีมได้รับการพัฒนาศักยภาพแล้ว จะมีการจัดประกวดแผนธุรกิจที่แต่ละทีมสร้างขึ้น ระหว่างดำเนินกิจกรรมในงาน “Demo Day: Life Sci. Level Up Challenge 2020” ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงกลางเดือนกันยายนปีนี้ โดยทีมที่ได้รับรางวัลการประกวดแผนธุรกิจ 5 ทีมสุดท้าย จะพิชิตโอกาสทางธุรกิจมูลค่ารวมกว่า 300,000 บาท ซึ่งเชื่อมั่นว่า ทีมที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เกิดขึ้นได้ จากการสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพทางการแพทย์และสุขภาพต่อไป” ดร.นเรศ กล่าวปิดท้าย
ข้อมูลข่าวโดย : ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS)
เผยแพร่โดย : นายจิรายุ รุจิพงษ์วาที
ส่วนสื่อสารองค์กร
กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.