5 มิถุนายน 2562 ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สป.อว. / กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดเสวนาเรื่อง Environment Crisis : สิ่งแวดล้อมวิกฤต ทุกชีวิตต้องช่วยกัน เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกประจำปี 2562 โดยมีนายปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมรับฟังการเสวนาในครั้งนี้ และได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ผศ.ดร.ธนวันต์ สินธุนาวา นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในหัวข้อ ประเทศไทย ตั้งรับ-รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก, ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. ในหัวข้อ วว. กับการแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อม....อย่างยั่งยืน, ดร.อัญชนา พัฒนสุพงษ์ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ (ศพว.) วว. ในหัวข้อ Green Service….งานบริการเพื่อธุรกิจสีเขียว มาร่วมเผยแนวทางรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โชว์งานวิจัย/บริการช่วยแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เดินหน้าผลักดันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นกลไกหลักให้เกิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG กระตุ้นสังคมร่วมกัน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างจิตสำนึกคนไทยช่วยกันลดโลกร้อน
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า จากปัญหาสภาวะแวดล้อมของโลกกำลังส่งผลคุกคามต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในทุกพื้นที่ทั่วโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เข้าสู่ภาวะวิกฤติ (Climate Crisis) นักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และสื่อที่สำคัญได้ออกมาเรียกร้องให้เปลี่ยนการใช้คำจาก “Global Warming” เป็น “Global Heating” ในประเทศไทยได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการเผชิญกับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญต่างๆ เช่น มลพิษทางอากาศจาก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ เป็นเหตุจากมลพิษจากการคมนาคมขนส่ง การเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร และการเปลี่ยนแปลงสภาพความกดอากาศ รวมถึงมลพิษพลาสติกที่คร่าชีวิตทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ เช่น กวาง นก เต่า วาฬและโลมา ที่กินพลาสติกด้วยความเข้าใจผิด สิ่งที่ต้องตระหนัก คือ ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับ 5 ของประเทศที่มีส่วนร่วมก่อให้เกิดขยะพลาสติกในมหาสมุทรมากที่สุดของโลก
"... ที่ผ่านมา วว. ได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมวิกฤต เพื่อพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจภายใต้กรอบของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy-BCG) ตามเป้าหมาย SDGs โดยเฉพาะ SDG 1 (ขจัดความยากจน) ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของทุกการดำเนินงาน ด้วยโครงสร้างพื้นฐาน องค์ความรู้ และเทคโนโลยีของ วว. ที่ผ่านมา วว. ดำเนินงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี เพื่อรองรับการวิกฤติสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ รวมถึงให้ความสำคัญกับงานบริการสีเขียวเพื่อภาคอุตสาหกรรม นับจากนี้ไปเราทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิก สิ่งที่จะมีผลต่อการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยกันลดโลกร้อน โดยเริ่มต้นจากตัวท่าน คนในครอบครัว ชุมชน สังคม ไปจนถึงระดับประเทศ เพื่อให้สร้างสังคมที่น่าอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกหลานไทยในอนาคต” ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติม
ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. กล่าวถึงผลงานวิจัย วว. ที่ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในทุกมิติอย่างรูปธรรม ดังนี้
สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช พื้นที่สงวนชีวมณฑล UNESCO จังหวัดนครราชสีมา วิจัยเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน รวมทั้งการติดตามกระบวนการถ่ายเทดูดซับคาร์บอนในพื้นที่ติดต่อกันกว่า 20 ปี วว. ยังได้ทำการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ และการศึกษา วอเตอร์ฟุตปริ้นต์และคาร์บอนฟุตปริ้นต์ (Water and carbon footprints) ของเห็ดพื้นบ้านและผักพื้นบ้าน ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกเห็ดป่าในป่าชุมชนต้นแบบให้เป็นแหล่งผลิตผลิตผลอินทรีย์แบบธรรมชาติ เพื่อสร้างฐานอาหารและเศรษฐกิจในชุมชนอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดแพร่และน่าน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาผ่านการจัดค่ายอบรมเยาวชน แต่ละปีมีเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศเข้ารับการอบรมกว่า 15,000 คน
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย (ALEC) ดำเนินงานอย่างครบวงจรตั้งแต่การเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่ายทั้งน้ำจืดและน้ำทะเล เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน กว่า 1,200 สายพันธุ์ การวิจัย พัฒนา การเพาะเลี้ยงสาหร่ายเพื่อเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นพลังงานชีวมวลและสารมูลค่าสูงต่างๆ รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีปุ๋ยชีวภาพ และวัสดุปรับปรุงดินจากสาหร่าย ช่วยในการปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดินซึ่งเป็นระบบนิเวศทางบกได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยชีวภาพและวัสดุปรับปรุงดินจากสาหร่าย เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูดินแก่ภาคเอกชนที่มีการจำหน่ายในท้องตลาดมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว
ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม (ศนพ.) มีโรงงานต้นแบบผลิตพลังงานหมุนเวียนจากขยะและน้ำเสีย ทั้งก๊าซชีวภาพ ความร้อน และไฟฟ้า ตั้งอยู่ ณ สถานีวิจัยลำตะคอง จ.นครราชสีมา ในส่วนของขยะชุมชนขนาดเล็กที่มีการกระจายกว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศ โดยดำเนินงานในพื้นที่ ร่วมกับ อบต. ตาลเดี่ยว จ. สระบุรี จัดตั้งโรงงานกำจัดขยะชุมชน ช่วยลดการเกิดก๊าซมีเทน (ก๊าซชีวภาพ) ที่เป็นสาเหตุของไฟไหม้กองขยะและภาวะโลกร้อน (ก๊าซมีเทนมีศักยภาพในการทำให้โลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 21 เท่า) รวมทั้งลดปริมาณขยะพลาสติกและอื่นๆ ที่ไหลลงสู่ทะเล ทั้งยังลดการปนเปื้อนของแหล่งน้ำใต้ดินจากน้ำชะขยะ
ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ (ศนว.) ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตบล็อกประสาน ที่ไม่ต้องใช้พลังงานในการเผา สามารถลดค่าใช้จ่ายในการสร้างอาคารที่อยู่อาศัยได้ถึง 1 ใน 3 ทั้งยังมีความทนทานต่อภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว พายุ และสึนามิ มีผู้เข้ารับการอบรมทั้งที่สนใจเป็นผู้ประกอบและช่างก่อสร้าง กว่า 10,000 ราย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตบล็อกประสานกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศประมาณ 700 ราย และมีการนำบล็อกประสานไปใช้ในการก่อสร้างอาคาร บ้านเรือนต่างๆ อย่างกว้างขวางในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
งานบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเขียว (Green Service) เพื่อการบริการแก่ภาคอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร โดย ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์คุณสมบัติของวัสดุ (ศพว.) ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (ศบท.) และสำนักรับรองระบบคุณภาพ (สรร.) ที่มีความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการบริการวิเคราะห์ ทดสอบ และ ด้วยงานบริการวิเคราะห์ทดสอบที่รองรับมาตรฐานต่างๆ ของประเทศและระดับสากล รวมถึงมาตรฐานในการส่งออก เช่น วิเคราะห์ทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพเพื่อยืนยันถึงสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สามารถนำผลการทดสอบไปยื่นขอสัญลักษณ์การรับรองจากสถาบัน DIN CERTCO ประเทศเยอรมนี และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้ วว. ยังสามารถให้การรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Eco Lodge) ในขอบข่ายผลิตภัณฑ์ พลาสติกสลายตัวทางชีวภาพ ตามมาตรฐาน ISO 17088 นอกจากนี้ วว. ได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์สีเขียว หรือ Green Packaging ภายใต้แนวคิดการออกแบบ Green by Design แบบองค์รวม ซึ่งได้รับรางวัลทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
โครงการ “การสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยในการลดและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อต่อยอดสู่กลุ่มประเทศอาเซียน” เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเสริมศักยภาพให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในด้านความสำคัญและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างศักยภาพในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยซึ่งเป็นภาคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
“... วว. มุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อลดวิกฤตสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ โดยเฉพาะเรื่องที่เร่งด่วนและกระทบกับทุกชีวิตทั่วโลก คือ SDG 13 (ปฏิบัติการและการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) แต่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องใหญ่และเร่งด่วนระดับโลกที่ทุกชีวิตต้องช่วยกันลงมือแก้ไขก่อนที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสายเกินแก้ ปัญหาขยะนับเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ต้องได้รับการแก้ไขให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยด่วนที่สุด เนื่องจากเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทั้ง ดิน น้ำ อากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตทั้งทางบกและทางทะเล รวมทั้งการทำให้โลกร้อน เริ่มต้นวินัยในการจัดการขยะทุกระดับตั้งแต่ บุคคล ครัวเรือน ชุมชน สังคม ประเทศ ในวันนี้ ก่อนที่ลูกหลานไทยจะออกมาประท้วง เพื่อทวงสิทธิ์ในการรับมอบทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ สิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า และอากาศบริสุทธิ์ เพื่อการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพจากคนรุ่นก่อนอย่างเรา” ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ กล่าวสรุปในตอนท้าย
เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวรุ่งทิพย์ คำพิทุม
ภาพข่าวโดย : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
ภาพวิดีโอ : นายสุเมธ บุญเอื้อ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.