เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมสถานีพัฒนาที่ดินมุกดาหาร นายธนากร สงวนตระกูล นักภูมิสารสนเทศชำนาญการพิเศษ ตัวแทนจากจิสด้า ได้เข้าร่วมประชุมกับนายอธิวัฒน์ สิทธิภิญญาพัฒน์ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินมุกดาหารและคณะเจ้าหน้าที่ และนายชรายุทธ พัฒน์ธรรมรงค์ ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์จังหวัดมุกดาหาร ตามที่ได้รับมอบหมายจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร (นายชยันต์ ศิริมาศ) เพื่อร่วมปรึกษาหารือโครงการพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสเทศ เพื่อการจัดการเกษตรมูลค่าสูงจังหวัดมุกดาหาร เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ของจังหวัด ด้านการพัฒนาเกษตรมูลค่าสูง ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรอัตตลักษณ์เฉพาะถิ่นของจังหวัดมุกดาหาร และนโยบายโครงการฟื้นฟูและสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศของรัฐบาล โดยในเบื้องต้นได้กำหนดเป้าหมายที่จะนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาใช้ในการจัดการตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและการเพิ่มมูลค่า (Values) ให้กับผลผลิตและผลิตภัณฑ์เพิ่มค่า (Value added) โดยจะดำเนินการร่วมกับชุมชน/วิสาหกิจชุมชน/ กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ และบูรณาการกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในจังหวัดมุกดาหาร
การพัฒนาโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการจัดการเกษตรมูลค่าสูงจังหวัดมุกดาหาร ในระยะแรก จะดำเนินการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการจัดการ กับกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเกษตรกรสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม /กลุ่มเกษตรอินทรีย์ PGS ต้นแบบ ของสถานีพัฒนาที่ดินมุกดาหาร เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเป็นต้นแบบขับเคลื่อนกลุ่มสู่เป้าหมาย ในรูปแบบแผนที่ออนไลน์ (Web Application) ระบบติดตามและรายงานผลผ่านสมาร์ทโฟน (Mobile Application) ระบบตรวจสอบย้อนกลับกระบวนการผลิตและมาตรฐาน (Mukdahan QR Trace) ด้วยเทคโนโลยี QR code (Mobile Application) เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าได้บริโภคผลผลิตจากจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐาน โดยการสแกน QR code ที่ติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ ก็สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปจนถึงแปลงเพาะปลูกและแหล่งผลิตได้
ภายใต้โครงการฯ มี GISTDA สถานีพัฒนาที่ดินมุกดาหาร หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง และชุมชน/วิสาหกิจชุมชน/ กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่จะดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อนำมาใช้ในการจัดการ วางแผน และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ฐานข้อมูลประกอบด้วย คลัสเตอร์โคเนื้อ คลัสเตอร์ข้าว คลัสเตอร์ไม้ผลและไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ คลัสเตอร์พืชไร่ และคลัสเตอร์สมุนไพร โดยบางคลัสเตอร์ เช่น ข้าว กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้ว โคเนื้อที่ อำเภอหนองสูงและอำเภอคำชะอี เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อให้กับจังหวัดและไม้ผล เช่นทุเรียน ที่ปลูกในหลายอำเภอของจังหวัด มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เริ่มมีผลผลิต สามารถที่จะผลักดันให้เป็นสินค้า GI ที่มีแหล่งปลูกในจังหวัดมุกดาหาร ได้
ภายหลังจากการประชุม ปรึกษาหารือ คณะฯ ได้เดินทางลงพื้นที่ เยี่ยมแปลงไม้ผลของนายประสาน ภู่ทอง ซึ่งมีการเพาะปลูกไม้ผลหลายชนิด ณ บ้านนาหินกอง หมู่ 8 ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.